16 กันยายน 2558

ควร หรือไม่ควรอย่างไร ที่จะทำคลับฟิตติ้งไม้กอล์ฟของตัวเอง

การฟิตติ้งไม้กอล์ฟที่เป็นสเปคโรงงาน (Standard Spec) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ท่านนักกอล์ฟได้อย่างไร ท่านยังใช้ไม้กอล์ฟที่เป็นสเปคเดิมๆอยู่หรือเปล่าครับ

ไม้กอล์ฟที่เป็นสเปคมาตรฐานจากโรงงาน (Standard Spec) ไม่ใช่ไม้กอล์ฟที่เหมาะกับทุกคน เพราะผลิตตามตามมาตรฐาน (One Size Fit All)

1. ความยาวก้าน (Length) เดียวกันทั้งหมด : เช่น ความยาวเกินจำเป็นของไดร์ฟเวอร์ไม่ได้ส่งเสริมระยะอย่างเดียว แต่เพิ่มมีความผิดพลาดสูงเช่นเดียวกัน เนื่องจากสรีระนักกอล์ฟแต่ละคนแตกต่างกัน แล้วยังใช้ความยาวก้านที่เท่ากัน / เหมือนกัน จากไม้กอล์ฟรุ่นเดียวกัน มันเป็นอะไรที่ต้องคิดสักนิดครับที่จะตีกอล์ฟให้ดีขึ้น เราก็ปรับวงให้เข้ากับไม้กอล์ฟหรือเปล่า??

2. มีสวิงเวทเดียวกัน (Same Swing weight) : สวิงเวทบ่งบอกถึงความรู้สึกในการสวิง ดังนั้นสวิงเวทเดียวกัน กับนักกอล์ฟทุกๆคนนั้นเป็นไปได้ยาก เช่นคนแข็งแรงกว่า สวิงสปีดที่เร็วกว่า เพราะฉนั้นควรปรับแต่สวิงเวทให้เข้ากับตัวเราเองจะดีกว่าไหมครับ

3. ขนาดกริ๊ป (Grip Size) ขนาดเดียวกัน : ที่ทราบกันแล้ว ขนาดมือของแต่ละคนไม่เท่ากัน แล้วทำไมไม้กอล์ฟรุ่นที่วางขายมีขนาดเดียวกัน ก็ไม่ฟิตกับนักกอล์ฟทุกคน การจับกริ๊ปที่ไม่พอดีมือ เกิดอาการของลูก Fade/Draw ได้ บางท่านต้องทนใช้ขนาดกริ๊ปที่ไม่เหมาะกับมือท่าน แล้วคิดว่าตีกอล์ฟไม่ดี เป็นเพราะวงเราเอง ซึ่งไม่ใกล้กับสาเหตุที่แท้จริงเลย

4. การจัดแนวดีดก้าน (Neutral Bending Position) ที่ไม่เต็มประสิทธิภาพ : โดยเฉพาะในชุดเหล็กที่ต้องการความแม่นยำสูง การดีดของก้านของเหล็กแต่ละเบอร์นั้นความจะดีดให้เหมือนกัน และควรมีความรู้สึกในการสวิง (Feel) ที่เหมือนกันทุกเหล็ก ชุดเหล็กที่มาจากชั้นวางขายไม่ได้ตอบโจทย์ตรงนี้เลย บางเหล็กตีสบายนุ่มได้ระยะ บางเหล็กไม่เป็นอย่างที่หวัง

5. มุมองศาหน้าไม้ ( Loft & Lie Angle) ที่เหมือนกัน : เป็นตัวกำหนดทิศทาง และระยะที่ควรได้ ในเมื่อสรีระร่างกายที่แต่ต่างกัน Loft / Lie ที่เหมาะสมจะทำให้เรามีความผิดพลาดน้อยลง เล็งกรีนในเหล็กจะแม่นยำขึ้น ทั้งระยะ และทิศทาง เพราะความยาวก้านที่ไม่เหมาะสม มีผลกระทบต่อ Lie Angle ซึ่งทำให้การอิมแพคเข้ากลางหน้าไม้ได้ไม่บ่อยครั้ง

แค่ไม่กี่อย่างที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็น่าจะพอนำไปพิจาณาได้นะครับ ว่าท่านที่รักในกีฬากอล์ฟจริง อยากจะพัฒนาเกมส์กอล์ฟของท่านจริงๆ ควร หรือไม่ควรปรับ/แต่งไม้กอล์ฟของท่านที่ใช้อยู่อย่างไร หรือหลายท่านได้ปรับวงสวิงของท่านให้เข้ากับไม้กอล์ฟท่านไปเรียบร้อยแล้ว

มาปรับ/แต่งไม้กอล์ฟ ให้เข้ากับวงสวิง (Fit Your Clubs To Your Swing) ดีกว่าไหมครับ แล้วที่เหลือเป็นเรื่องของวงสวิงอย่างเดียว จะได้ไม่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ไปเรื่อยๆ อย่างไรเป้าหมายครับ

3 กันยายน 2558

การยืนจรดแอสเดรส และการดีดก้าน ทำให้ได้ Lie Angle ที่เหมาะสม

เมื่อคราวที่แล้วพูดถึงเรื่องความยาวก้านที่เหมาะสมในแต่ละคนนั้น ควรมีความยาวก้านไม้กอล์ฟที่ไม่ควรจะเหมือนกัน เนื่องจากสรีระร่างกายนักกอล์ฟแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงไม่เหมาะกับไม้กอล์ฟที่วางขายอยู่ทั่วไปที่มีความยาวก้านที่เป็นมาตรฐาน (Standard Spec) เหมือนกัน ทำให้นักกอล์ฟบางคนจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวงสวิงเพื่อให้เข้ากับไม้กอล์ฟที่มีความยาวก้านเกินความจำเป็น หรือพูดอีกอย่างคือไม้กอล์ฟที่ผิดสเปคสามารถเปลี่ยนวงสวิงคุณได้
ความยาวก้านเปลี่ยนการยืนแอสเดรส

ความยาวก้าน หรือสเปคไม้กอล์ฟ กับสรีระร่างกาย และความสามารถควรสัมพันธ์กัน เนื่องจากความยาวก้านไม้กอล์ฟเป็นตัวกำหนดความแม่นยำ (Accuracy) และความสม่ำเสมอ (Consistency) รวมไปถึงตัวกำหนดทิศทาง (Direction) เพราะความยาวก้านมีผลต้อง Lie Angle ที่เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เนื่องจาก Lie Angle เป็นตัวกำหนดทิศทางนั้นเอง จึงทำให้นักกอล์ฟหลายท่านปรับการสวิง ปรับการยืนจรดแอสเดรส จนทำให้วงไม่เป็นวง และทำให้ตัวเองสับสนในการเล็ง รวมถึงระนาบการสวิงจนถึงอิมแพค ว่ามันเป็นเพราะอะไรกันแน่

ตัวอย่างเช่นนักกอล์ฟตัวสูง หรือเตี้ยกว่า หรือมีความสูงข้อมือถึงพื้น WTF (Wrist To Floor) ที่ไม่เหมือนกัน แล้วก็ใช้ไม้กอล์ฟที่เป็น Standard Spec จึงทำให้จำเป็นต้องปรับการยืนจรดแอสเดรสที่ไม่เป็นธรรมชาติของตัวเอง โดยปรับการยืนให้เข้ากับ Lie Angle ของไม้กอล์ฟ ทำให้ท่านยืนจรดแล้วหน้าไม้ชันเกินไป (Too Upright) หรือบางท่านจรดก็ระนาบเกินไป (Flat) นั้นเป็นสาเหตุมาจากความยาวก้านที่ไม้เหมาะสมกับตัวเอง

ดีดแบบก้านนำหัวไม้
ไม่เพียงแต่ความยาวก้านไม้กอล์ฟอย่างเดียว ยังรวมถึงการทำงานของก้านไม้กอล์ฟที่ประกอบมาจัดการดีดก้านที่ไม่เหมาะสม (Neutral Bending Position) ทำให้การดีดทำงานของก้านแต่ละก้านไม่เหมือนกัน (โดยเฉพาะในชุดเหล็ก) เพราะการงอตัวดีดก้านทำให้การอิแพคหน้าไม้ไม่เหมาะสม กระทบกับ Lie Angle ขณะอิมแพค ซึ่งก้านจะงอตัวดีดที่แตกต่างกัน (Droop) ขึ้นอยู่กับการจัดแนวดีดก้านให้เหมาะสมหรือไม่ และรวมถึงการสวิงของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้การดีดตัวต่างกัน

ดีดแบบหัวไม้นำก้าน
เพราะฉนั้น การยืนจรดแอสเดรสแล้วสังเกตุเห็นหัวไม้ หรือใบเหล็กของท่านกระดก(ชัน)ขึ้น (Upright) หรือจรดแล้วหัวไม้/ใบเหล็กทิ่มลงพื้น (Flat) ควรนำไม้กอล์ฟท่านมาปรีกษา Professional Clubfitting เพื่อแก้ไขโดยตรวจเช็ค Lie angle ว่าเหมาะสมกับท่านหรือไม่ รวมถึงการจัดแนวดีดก้านใหม่ให้มีการดีดที่เหมือนกัน (ในชุดเหล็ก) การยืนจรดนั้นไม่สามารถบงบอกว่ามี Lie Angle ที่ไม่เหมาะสมอย่างเดียวไม่ ต้องรวมถึงการทำงานดีดของก้านนั้นด้วย ที่ส่งผลต่อ Lie Angle ที่เปลี่ยนไปซึ่งบอกได้เลยว่าชุดเหล็กที่เป็น Standard Spec หรือ สเปคโรงงานมีการเสียบประกอบก้านที่ไม่เหมือนกันมากกว่า 80% เลยก็ว่าได้ครับ เมื่อได้มาปรับแต่ง / จัดสเปคแล้วรับรองท่านจะได้เหล็กทุกไม้มีก้านที่ดีดเหมือนกัน และได้ความสม่ำเสมอของทิศทาง ซึ่งที่เหลือก็เป็นเรื่องของวงแล้วครับ จะได้ไม่ต้องโทษอุปกรณ์ และเปลี่ยนอุปกรณ์อยู่ร่ำไป

14 สิงหาคม 2558

ความยาวไม้กอล์ฟ ควรสัมพันธ์กับ ระยะความสูงจากข้อมือถึงพื้น (Wrist to Floor)

การวัดตัดประกอบไม้กอล์ฟโดยเฉพาะ (Custom Fitting) ความยาวก้านไม้กอล์ฟ (Shaft Lenght) ควรจะให้ความสำคัญเป็นลำดับแรกๆ เพราะความยาวก้านไม้กอล์ฟจะสนับสนุน และส่งผลให้เกิด ความสม่ำเสมอ (Consistentcy) และความแม่นยำ (Accuracy) ได้มากครั้ง หรือบ่อยครั้งที่สุด ซึ่งความยาวก้านไม้กอล์ฟในแต่ละไม้นั้น ก็ควรจะมีความยาวก้านไม้ฯที่เหมาะสมกับสรีระและความสามารถในการสวิงของนักกอล์ฟแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ถึงจะส่งผลและทำให้นักกอล์ฟคนนั้นตีลูกได้แม่นยำ และสม่ำเสมอ ตีลูกกอล์ฟเข้ากลางหน้าไม้ (Center Impact) ได้บ่อยครั้งที่สุด

ระยะความสูงจากข้อมือถึงพื้น (WTF)
ฉนั้นระยะ ความสูงจากข้อมือถึงพื้น (Wrist To Floor) ของนักกอล์ฟก็ควรจะสัมพันธ์กับความยาวก้านไม้กอล์ฟที่ตัวเองใช้อยู่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุดกับตัวเอง รวมไปถึงการพัฒนาวงสวิงให้ดีขึ้นด้วย  ซึ่งไม่ควรใช้ความยาวก้านไม้กอล์ฟที่เป็นมาตรฐาน (Standard Length) ของไม้กอล์ฟที่วางขาย ซึ่งมีความยาวก้านเหมือนๆกันขายอยู่ทั่วไป เพราะว่านักกอล์ฟแต่ละคนนั้นจะมีความแตกต่างทางสรีระร่างกายที่ไม่เหมือนกัน เช่น บางคนตัวสูงแขนสั้น หรือ บางคนตัวเตี้ยแขนยาว เป็นต้น

วงสวิงที่เปลี่ยนตามความยาวก้าน
การวัดความยาวจากข้อมือ ถึง พื้น (WTF) จะสัมพันธ์กับมุมของกระดูกสันหลัง ในการยืนจรดแอสเดรสของนักกอล์ฟ หากมีก้านไม้กอล์ฟที่ยาว หรือสั้นเกินไป ก็จะส่งผลให้แนวสวิงไม้กอล์ฟเปลี่ยนไป บางท่านจำเป็นต้องปรับวงสวิงเข้าหาไม้กอล์ฟ ที่มีความยาวก้านมาตรฐานที่ไม่เหมาะกับตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่ในไดร์ฟเวอร์ที่วางขายอยู่มีความยาวมากเกินไป (45"+) ทำให้วงสวิงกลายเป็นวงที่แบน (Flat) เกินไป ทำให้มีผลต่อการสวิงไปยังลูกกอล์ฟไม่หนักแน่ และเสียทิศทาง ซึ่งทำให้นักกอล์ฟพยายามปรับวงสวิงตัวเอง และการยืนจรดแอสเดรส เพื่อที่จะให้เข้ากับไม้กอล์ฟที่ใช้นั้นให้ได้ จนบางครั้งไม่รู้ว่าเป็นเพราะวงสวิงที่ผิด หรือเป็นเพราะความยาวก้านที่ไม่เหมาะสม

ก้านที่ยาวเกินไป ขาดความความแม่นยำ / ความสม่ำเสมอ
ความยาวก้าน (Club Length) ที่เป็นมาตรฐานวางขายอยู่ทั่วไปนั้นส่วนใหญ่แล้ว จะทำให้ก้านไม้กอล์ฟนั้นยาวขึ้น เช่น ไดร์ฟเวอร์ก้านยาว 45.5 นิ้ว+ เพื่อเพียงเพราะว่าจะส่งผลให้ได้ระยะที่ไกลขึ้นนั้นเอง แต่ไม่ได้คำนึงถึงความแม่นยำ และความสม่ำเสมอที่ได้ เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ออกมา ถ้าตี 10 ลูก ได้ระยะไกลเพียง 2 ลูก ผู้ผลิตก็ถือได้ว่าเป็นไม้กอล์ฟที่ตีไกลแล้ว อย่าลืมนะครับ การออกรอบจริงมีโอกาสเพียงช๊อตเดียว ซึ่งไม่เหมือนกับการไดร์ฟในสนามไดร์ฟกอล์ฟ (Driving range) ซึ่งยืนอยู่ที่เดิมตี มุมเล็งก็มุมเดิม ตีลูกแรกไม่ดี ก็ปรับการเล็งและตีใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ต้องมีลูกที่โดนดีและได้ระยะสักลูกนึงก็เพียงพอแล้วหรือครับ

ความยาวก้าน กับการยืนจรดที่เปลี่ยนไป
ความยาวก้านยังเกี่ยวข้องกับ Lie Angle อีกด้วย จะเห็นได้ชัดในชุดเหล็ก หากท่านนักกอล์ฟมีก้านไม้กอล์ฟที่ยาวเกินกว่าระยะข้อมือ ถึงพื้น (WTF) แล้ว เมื่อยืนจรดแอสเดรส จะสังเกตุเห็นใบเหล็กที่ปลายจะกระดกขึ้น (Upright angle) ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อตีลูกฯแล้วจะทำให้ลูกฯเข้าซ้าย (สำหรับคนตีขวา) นี่พูดถึงการยืนจรดปกติ และส่วนใหญ่เมื่อตีลูกเข้าซ้ายบ่อยๆแล้ว ธรรมชาติก็จะให้นักกอล์ฟปรับตัวเองไปเล็งขวา หรือยืนจรดแบบเปิด (Open Stand) เพื่อชดเชยการตีที่เข้าซ้ายประจำ ทำให้ติดกับวงสวิง และการเล็งที่ไม่ปกตินั้นไป และจะมาแก้วงสวิงก็จะทำได้ยากกว่าด้วยนะครับ ทำไมไม่มาแก้ที่ไม้กอล์ฟ และก็มาปรับวงสวิงให้เป็นของเราเองจะดีกว่า และง่ายกว่าครับ (Fit Your Clubs To Your Swing)

ควรตรวจเช็ค และปรับแต่งความยาวก้านไม้กอล์ฟให้เหมาะกับตัวเองดีกว่าครับ เพื่อการพัฒนาเกมส์กอล์ฟให้สนุก และดีขึ้นนะครับ

7 มิถุนายน 2558

การเลือกไดร์ฟเวอร์ที่ควรพิจารณา

มีนักกอล์ฟหลายๆท่านที่มีปัญหากับการเลือกใช้หัวไม้ 1 หรือ ไดร์ฟเวอร์ ที่ต้องการได้ไดร์ฟเวอร์ที่ตีได้ไกลที่สุด และเหมาะกับความสามารถตัวเองที่สุด แต่ก็ไม่รู้ว่าควรจะเลือกอย่างไรถึงจะได้ตามต้องการ เพราะปัจจุบันการผลิตไม้กอล์ฟออกมาจำหน่ายในท้องตลาดนั้น มีการแข่งขันกันสูงมากๆ ยอมเสียค่าโฆษณา / ค่าค้นคว้าวิจัยและการออกแบบ รวมไปถึงการจ่ายสปอนเซอร์ให้กับนักกอล์ฟอาชีพ เพื่อที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งในตลาดไม้กอล์ฟให้ได้มากที่สุด ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคอย่างเราๆจะต้องลงทุนเสียเงินไม่ใช่น้อยเพื่อซื้อไดร์ฟเวอร์มาใช้อย่างคุ้มค่าที่สุด

การเลือกไดร์ฟเวอร์ตามหลักใหญ่ๆที่ควรพิจารณาเป็นสำคัญ

องศาหน้าไม้ (Loft Angle) : เป็นตัวหลักสำคัญที่สร้างการยกตัวของลูกกอล์ฟให้ลอยไปได้ไกลและได้ระยะ มากขึ้นเท่าที่นักกอล์ฟจะทำได้ ซึ่งการยกตัวลูกกอล์ฟให้ลอยสูงขึ้นนั้น ก็เกิดจากอัตราการหมุนของลูกกอล์ฟ (Spin Rate)นั้นเอง นักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ (Club Head Speed) ที่สูงก็สามารถสร้าง Spin rate ที่มากได้ แต่ถ้านักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ที่ช้า ก็มี Spin rate ที่ต่ำซึ่งเป็นผลทำให้การไดร์ฟได้ระยะสั้นกว่า ดังนั้นนักกอล์ฟผู้ที่มีสปินเรทที่สูงควรใช้องศาหน้าไม้ที่ต่ำกว่า (อันนี้ไม่รวมตีลูกฯแบบมุมกด/Decending ที่ทำให้เกิดสปินแบบถอยหลังนะครับ) ส่วนใหญ่คิดว่าองศาหน้าไม่ต่ำจะทำให้ลูกวิ่งไปได้ไกล โดยเฉพาะนักกอล์ฟ Senior ซึ่งไม่ตรงกับหลักความเป็นจริงของการยกตัวของลูกในอากาศ


จุดกึ่งกลางศูนย์ถ่วงหัวไไม้ (Center Gravity) : การออกแบบหัวไดร์ฟเวอร์ในปัจจุบันมุ่งเน้นการออกแบบ Center Gravity บนหัวไม้ (โดยเฉพาะในไดร์ฟเวอร์เพราะมีพื้นที่มากกว่าหัวไม้อื่นๆ) เช่นหัวไม้ที่มีขนาดใหญ่ 460cc ย่อมมี Deeper C.G. มาทางด้านท้ายมากกว่า เป็นผลทำให้มุมการตีลูกกอล์ฟให้ยกลอยตัวสูงได้ดีกว่า และมี MOI หัวไม้ที่ดีกว่า ตีได้ง่ายกว่า (นอกจากนั้น ยังมี Vertical C.G ที่ต่ำก็ช่วยมุมเหินตัวลูกกอล์ฟให้สูง หน้าไม้ที่สูง(Deep Face) หรือกระดองหลังที่สูง ก็จะมี Vertical C.G.ที่สูงขึ้น จะทำให้มุมยกตัวลูกกอล์ฟที่ต่ำไปด้วย)

ยี่ห้อ / สีสรร / รูปทรง หรือการโฆษณาให้นักกอล์ฟอาชีพคนไหนใช้ นั่นเป็นองค์ประกอบรองลงมา คือเรื่องของความชอบส่วนตัวซึ่งไม่เกี่ยวหลักการฟิตติ้งไม้กอล์ฟ เพราะมีนักกอล์ฟหลายท่านชอบถามคำถามแรกเลยว่าควรซื้อไม้กอล์ฟยี่ห้ออะไรดี เพราะยี่ห้อนั้นไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องที่สุด ถ้าได้ทราบองค์ประกอบ 2 อย่างแรกเบี้องต้น ว่ามีองค์ประกอบที่เราต้องการดังกล่าวหรือไม่ เพราะไม้กอล์ฟในท้องตลาดมีมากมายหลายสิบแบนด์เลยครับ ที่มีการออกแบบดังกล่าวเหมือนๆกันครับ

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยรองอื่นๆที่มีผลกระทบ กับการทำงานของหัวไม้ดังกล่าวเปลี่ยนไปด้วยเช่นกันนั่นก็คือ ความอ่อน/แข็ง และจุดงอตัวดีดก้าน (Flex / Bending point) ที่ทำให้มุมองศาหน้าไม้เปลี่ยนตอนอิมแพค (Dynamic Loft) และการประกอบ ความยาวก้าน / น้ำหนักก้าน และน้ำรวมก้าน ทำให้เกิดความแม่นยำ (Accuracy) และสม่ำเสมอ (Consistency) ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ ควรปรึกษา Professional Clubfitting ก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อนะครับ จะได้มีไดร์ฟเวอร์ที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ ซึ่งนักกอล์ฟแต่ละคนนั้นก็มีการสวิงที่ไม่เหมือน และแตกต่างกันไปครับ

15 เมษายน 2558

ชุดเหล็กที่ดี ควรสร้างจังหวะ และความรู้สึกในการสวิงที่เหมือนกันในเหล็กทุกเบอร์

ชุดเหล็กที่มีความรู้สึกในการสวิงที่เหมือนกันในเหล็กทุกๆเบอร์ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ จะทำให้นักกอล์ฟสามารถรักษา และสร้างจังหวะสวิง (Swing tempo) ได้เหมือนกันในเหล็กทุกๆเบอร์ ซึ่งในปัจจุบันโค้ชกอล์ฟระดับโลกจะพยายามโค้ชในนักกอล์ฟมี Swing Tempo ที่เหมือนกันให้ได้โดยเฉพาะในชุดเหล็ก และเวจด์ เพราะต้องการความแม่นยำและแน่นอนในช๊อตที่เข้ากรีน

แต่น่าเสียดาย ชุดเหล็กที่วางขายอยู่ทั่วไปในห้าง ที่เป็นสเปกโรงงาน ไม่สามารถทำให้นักกอล์ฟสร้าง และพัฒนาจังหวะสวิงให้เหมือนกันได้ เพราะการประกอบออกมาขายจะมีสวิงเวท (Swing weight) ที่เป็นสเปกเดียวเหมือนกันหมดในรุ่นเดียวกันที่มาจากโรงงาน ทำให้ไม้กอล์ฟที่มีความยาวมากกว่าจะมีความรู้สึกในการสวิงที่หนักกว่า ไม้กอล์ฟที่มีความยาวสั้นที่มีสวิงเวทที่เหมือนกัน

ดังนั้นชุดเหล็กที่มีสวิงเวทเดียว ในสเปกโรงงานยิ่งไม่เหมาะ และตอบสนองนักกอล์ฟในทุกคนทุกระดับฝีมืออีกด้วย ทั้งนี้เพราะทักษะการสวิง และความแข็งแรงร่างกายที่ต่างกัน แต่ต้องใช้ไม้กอล์ฟที่ขายอยู่ และมีสวิงเวทเดียวกันหมด

นอกจากนั้น เมื่อซื้อชุดเหล็กสเปกโรงงานมาใช้รุ่นหนึ่ง และต้องการชุดเวจด์มาเพื่อเสริมให้ครบเครื่อง ครบครัน แต่ก็จะพบกับชุดเวจด์ที่ขายเป็นสเปกโรงานนั้น มีความแตกต่างจากชุดเหล็กที่ได้มาก่อนนั้นอีกด้วย ทั้งน้ำหนักรวม / น้ำหนักก้าน / สวิงเวท / ขนาดกริ๊ป และความยาวก้านก็ไม่ได้ไล่เรียงจากเหล็กตัวสุดท้าย (PW) ในชุดเหล็กเอาซะเลย ซึ่งเมื่อใช้ได้สักระยะหนึ่งท่านจะทราบได้ว่า ชุดเวจด์ กับ ชุดเหล็ก ไม่ค่อยสามัดคีกันเลย ทำให้จังหวะในการสวิงต่างกันถึงจะควบคุมมันได้ นั่นจะทำให้ท่านต้องปรับวงสวิงให้เข้ากับไม้กอล์ฟไปอย่างไม่รู้ตัวเลยสิครับ และจะทำให้จดจำติดตัวไปตลอด หากจะแก้ก็คงใช้เวลานานหน่อยมั้งครับ

สำหรับท่านนักกอล์ฟที่รักในเกมส์กอล์ฟ ต้องการพัฒนาฝีมือในเชิงกอล์ฟแล้ว คำตอบของไม้กอล์ฟที่เป็นสเปกโรงงานจะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของท่านได้หรือเปล่าครับ ควรนำชุดเหล็ก/เวจด์ที่ใช้มาตรวจสอบ และปรึกษากับ Professional Club Fitting ที่สามารถให้คำตอบกับท่านได้สิครับ แล้วค่อยตัดสินใจว่าควร ปรับ/แต่ง อย่างไรที่จะได้สเปกไม้กอล์ฟที่เป็นของท่านเองจริงๆ

4 มีนาคม 2558

ความแตกต่างก้านไม้กอล์ฟ ที่ควรพิจารณาก่อนการซื้อ

ก้านไม้กอล์ฟถือว่าเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญและได้รับความนิยมในหมู่นักกอล์ฟที่ต้องการจะโมดิฟายไม้กอล์ฟตัวเองให้ได้เต็มประสิทธิภาพในการใช้งานจริง ส่วนใหญ่หลายคนเพียงต้องการให้ได้ระยะไกล (Distance) ขึ้น และค่อยคำนึงถึงความแม่นยำ (Accuracy) และความสม่ำเสมอ (Consistency) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญไม่ได้น้อยไปกว่าระยะเลยด้วยซ้ำในการเล่นจริงในสนามกอล์ฟ ที่จะทำสกอร์ให้ได้น้อยที่สุด ใช้ช๊อตน้อยที่สุด หรือ ช่วยลดสกอร์นั่นเอง

ก้านไม้กอล์ฟที่ติดมาจากโรงงาน (Stock Shaft) หรือบางท่านเรียกว่า (OEM shaft) คือผลิต และประกอบคู่มากับไม้กอล์ฟผลิตที่ละมากๆ มีเพียง 2 Flex ให้เลือก (R กับ S) คุณภาพ หรือคุณสมบัติก็แล้วแต่จะตรงกับนักกอล์ฟที่ได้ซื้อไป แล้วเหมาะกับตัวเอง ก็ถือว่าโชคดี แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนก้านฯเพื่อจะได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ตรงกับความสามารถ และสรีระของตัวเอง ก็ควรรู้ว่าก้านไม้กอล์ฟนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

ก้านไม้กอล์ฟที่วางขายทั่วไป มีให้เลือกมากมายหลายแบนด์ หลายรุ่น หรือแบนด์เดียวกัน ก็มีอีกหลายรุ่น นับได้ว่ามีให้เลือกเป็นร้อยเลยก็ว่าได้ ซึ่งการแข่งขันทางการตลาดพยายามโปรโมทแบนด์ตัวเองด้วยการ ให้สปอนเซอร์นักกอล์ฟอาชีพ และลงโฆษณาให้ติดตา ติดตลาดของผู้บริโภคในสื่อต่างๆ แล้วจริงๆคุณสมบัติของก้านนั้นต่างกันตรงนั้นหรือ สมมุติเอาสี และลวดลายที่พ่นบนก้านออก ให้เป็นเดียวกันหมด คือสีดำ หรือเป็นสีของกราไฟท์อย่างเดียวกันทั้งหมด ท่านควรจะพิจารณาเลือกก้านไหนที่เหมาะกับท่านที่สุด ปราศจากชื่อแบนด์ และรุ่นต่างๆที่บอกบนตัวก้าน

น้ำหนักก้าน (Shaft weight) ควรเป็นตัวแรกในการพิจารณาเลือกให้เหมาะกับความแข็งแรง ทักษะการสวิง และความเร็วสปีดที่จะเร่งเข้าตีลูกกอล์ฟ ซึ่งท่านสามารถนำก้านนั้นมาชั่งบนเครื่องชั่งทั่วไปที่บอกน้ำหนักเป็นกรัม ก็จะรู้ว่ามีน้ำหนักก้านเปล่าเท่าไร (Gross weight) เพราะน้ำหนักก้านถือได้ว่าเป็น มวลที่จะควบคุมสเปคไม้กอล์ฟ ในทางวิทยาศาสตร์ (มวล+ความเร็ว=งาน(แรง)

เครื่องวัดค่าความถี่ก้าน (Frequency Analyser)
ความอ่อน/แข็งก้าน (Shaft Flex) ซึ่งก้าน R หรือ S ที่พอจะทราบกันนั้นไม่สามารถนำมาเป็นตัววัดความแข็ง/อ่อนก้านที่มาเปรียบเทียบกันได้ เพราะไม่มีค่าความเป็นมาตรฐาน ซึ่งแต่ละแบนด์กำหนดความอ่อน/แข็งของตัวเองโดยไม่ได้อ้างอิงกับใคร จึงไม่ควรไปยึดติดกับ Flex นั้นมากเกินไป ซึ่งก็มีบางแบนด์ก็ไม่ได้กำหนดเป็นตัวอักษร แต่กำหนดความอ่อน/แข็งเป็นตัวเลข เช่น 5.0/5.5/6.0 หรือกำหนดให้เป็นค่า CPM (Circle Per Minute) ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการวัความถี่/ดีดก้าน บนเครื่องวัด Frequency Analyser  ต่อการดีด ต่อรอบ/นาที ถ้ามีค่ามาก หรือความถี่มาก ค่าความแข็งของก้านก็จะมาก ค่าตัวนี้จะผันแปรตามความยาวก้านด้วยเหมือนกัน หากจะเปรียบเทียบระหว่างก้านสองก้านที่แตกต่างกันว่าก้านไหนจะ อ่อน/แข็งกว่ากัน ต้องควรมีความยาวที่เท่ากันด้วยครับ

คราวนี้พอทราบเจ้าค่า CPM คร่าวๆแล้วซึ่งในบทความก่อนๆก็เคยเล่าให้ฟังบ้างแล้ว คราวนี้ค่า CPM ก็มีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน เพราะนักกอล์ฟเริ่มมีความรู้แล้วว่าค่า CPM ของก้านไม้กอล์ฟนั้นสำคัญอย่างไร และใช้ค่า CPM ทดแทนค่า Flex ไปแล้วว่าควรใช้ก้านที่มีค่า CPM ที่เท่าไร

ก้านที่มี CPM ที่โคนก้านเหมือนกัน แต่การดีดที่ปลายก้านไม่เหมือนกัน
ก้านฯบางแบนด์ก็นำค่า CPM มากำหนดเป็นค่าความอ่อน/แข็งของก้านฯแบนด์ตนเองไปแล้ว เช่นก้านนี้มีค่า CPM /235  แต่มีค่าเดียวที่บอกกับลูกค้า ซึ่งแต่ละก้านที่มีค่า CPM ที่เหมือนกัน อาจจะทำงาน หรือการดีดก้านไม่เหมือนกันได้ เพราะการดีดที่ปลายก้านไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราควรรู้ค่า CPM ตลอดทั้งก้านด้วยว่ามีค่าเป็นอย่างไร จึงนำมาพิจารราตัดสินใจเลือกก้านให้เหมาะกับตัวเอง และเชื่อว่าบริษัทผลิตก้าน หรือร้านขายก้านไม้กอล์ฟคงไม่ยอมบอกลูกค้าถึงรายละเอียดขนาดนั้นหรอกครับ เพราะหากก้านที่ราคาขายที่แพง หากเมื่อนำมาเทียบกัน และมีค่า CPM ตลอดทั้งก้านใกล้เคียง หรือเท่ากับ ก้านที่มีราคาถูกกว่า ถ้าเป็นคุณจะเลือกก้านไหนละครับ???

สรุปการเลือกซื้อ/เปลี่ยนก้านนั้น ไม่ควรมองที่ราคา หรือแบนด์เป็นอันดับแรก สืบเนื่องมาจากการโฆษณา และนักกอล์ฟอาชีพใช้เป็นสำคัญ นั่นก็ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะตัวของท่านเองไม่ได้ แต่ถ้าหากท่านรู้ว่า ก้านนั้นมีน้ำหนักก้าน (Shaft Weight) เท่าไร และมีค่าความอ่อน/แข็ง (Flex) ซึ่งควรมีค่า CPM ตลอดทั้งก้านเป็นอย่างไร ที่สามารถตอบสนองกับการสวิงของท่านได้ และนอกจากนั้นสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การประกอบก้านไม้กอล์ฟ (Club Assembly) ต้องให้ได้บนหลักการการฟิตติ้ง เช่นความยาวก้าน / สวิงเวท / การจัดแนวดีดที่ดี และขนาดกริ๊ป ให้เหมาะกับตัวท่านมากที่สุด การเปลี่ยนก้านนั้นจะถือว่าคุ้มค่าที่สุด ที่เหลือก็เป็นเรื่องของการฝึกซ้อมแล้วครับ

19 มกราคม 2558

ไม้กอล์ฟไดร์ฟเวอร์ที่วางขายในตลาดไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดสำหรับนักกอล์ฟทุกคน

ในโลกของอุปกรณ์ไม้กอล์ฟปัจจุบันนี้ มีการแข่งขันกันสูงมากในการลงทุนโฆษณา และให้สปอนเซอร์นักกอล์ฟมืออาชีพ เพื่อโปรโมทสินค้าไม้กอล์ฟอย่างต่อเนื่อง ให้ได้สินค้าแบนด์นั้นติดตลาดและคุ้นหูคุ้นตากันในมากที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อมาเป็นเจ้าของได้เร็วขึ้น โดยเฉพาะไดร์ฟเวอร์ หรือหัวไม้ 1 ที่มีการออกจำหน่ายในตลาดเป็นแฟชั่นเลยก็ว่าได้ รุ่นใหม่ๆออกมาราคาแพงมาก แต่อีกไม่กี่เดือนก็ออกรุ่นใหม่มาอีกในยี่ห้อ/แบนด์เดียวกัน ซึ่งทำให้รุ่นเก่านำมาลดราคาแบบถูกมาก ใครซื้อตอนแรกแทบจะร้องไม่ออกเลย ถูกกว่าครึ่งเลยที่เดียว แต่ก็ยังตอบคำถามไม่ได้ว่า ไดร์ฟเวอร์อันไหน/รุ่นไหนมันดีกว่า และต่างกันอย่างไร

หัวไม้ไดร์ฟเวอร์ในแต่ละแบนด์ที่ออกมาจำหน่ายในตลาดนั้นมีองศาหน้าไม้ (Loft Angle) ที่วางขายอย่างมากแค่ 2 แบบให้เลือก ส่วนใหญ่ก็จะมีเพียง 9.5 หรือ 10.5 องศา นั่นเป็นเพราะว่าขอจำกัดในต้นทุนการผลิต และการทำตลาด เพราะต้นทุนการผลิตต่อหนี่งหัวไม้ นั้นสูงมากที่จะทำให้ลูกค้าเลือกมากกว่า 2 แบบ (ถ้าผลิตเช่นเดียวกับเบอร์รองเท้า) เพราะผู้ผลิตทราบดีอยู่แล้วว่าไม่สามารถตอบสนองให้ลูกค้าได้ทุกระดับฝึมือ ที่จะทำให้ลูกค้า/ผู้บริโภคเล่นกอล์ฟให้ได้ดีขึ้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้เพราะความสามารถนักกอล์ฟที่แตกต่างกัน และมีทักษะทางกีฬาหลายระดับ จึงทำออกแบบการผลิตให้มีการปรับองศาหน้าไม้ได้ในหัวไม้เดียวกันได้ -/+2 องศา ซึ่งจริงๆแล้วองศาหน้าไม้ที่ไม่ได้วาง หรือสัมผัสกับพื่นไม่สามารถวัดองศาที่แท้จริงออกมาได้อย่างคงที่และแน่นอน (ไดร์ฟเวอร์จะตีบนที ไม่ใช่ตีกับพื้น ซึ่งองศาหน้าไม้จะเปลี่ยนไปตอนการจับกริ๊ปที่ต่างกันออกไปของนักกอล์ฟแต่ละคน) ซึ่งนักกอล์ฟสมัครเล่นทั่วไปก็เข้าใจ และอยากได้ไดร์ฟเวอร์ที่สามารถปรับองศาหน้าไม้ได้ตามคำโฆษณาอย่างนั้น
(การเปลี่ยนองศาหน้าไม้ในไดร์ฟเวอร์สำหรับนักกอล์ฟมือดีก็สามารถทำได้ เพียงเปลี่ยนการจับกริ๊ป หรือปักทีให้สูงขึ้น หรือเลื่อน/เปลี่ยนตำแหน่งของการยืนจรดแอดเดรส ก็ทำให้องศาหน้าไม้นั้นเมื่ออิมแพคเปลี่ยนไปนั้นเอง)

นักกอล์ฟหลายท่านซื้อไม้กอล์ฟแบบนั้นมาแล้วก็ไม่เข้าใจหลักการในการเพิ่มหรือลดองศาหน้าไม้ ว่าจะช่วยอะไรกับตัวเองได้ เพียงแต่ซื้อมาเพราะเขาบอกว่ามันปรับองศาหน้าไม้ได้หลายแบบ หรือคือมีลูกเล่นเพิ่มขึ้นกว่าเดิม ก็เลยตัดสินใจซื้อมา ซึ่งไม่เคยรู้ว่าองศาหน้าไม้ที่เหมาะกับความสามารถทักษะการสวิงของตัวเองเป็นอย่างไร  รวมไปถึงขนาดความยาวก้านฯที่เหมาะสม กับตัวเองว่าควรมีความยาวเท่าไร และมีน้ำหนักก้าน/น้ำหนักรวมไม้กอล์ฟ ว่าควรเป็นอย่างไร จึงจะเหมาะกับความแข็งแรงร่างกายตัวเอง (หรือเลือกอันที่เบาๆไว้ก่อน) จึงเหมือนจำเป็นต้องเสี่ยงซื้อไดร์ฟเวอร์นั้นมา เพราะคิดว่าราคาแพงเป็นรุ่นใหม่มันน่าจะดี จะทำให้ตีได้ไกลขึ้นได้แน่ๆ ด้วยเหตุนี้ตามความเป็นจริงแล้วท่านนักกอล์ฟหลายท่านคงเคยมีประสบการณ์เรื่องนี้มาแล้วใช่ไหมครับ ว่าเป็นคำตอบถูกต้องหรือไม่ ราคาแพงต้องเป็นไม้ฯที่ดีกับตัวเองจริงๆ

มุมเหิน B เป็นมุมที่ได้ระยะมากที่สุด
จะยกตัวอย่างให้ทราบว่า องศาหน้าไม้ 9.5 หรือ 10.5 องศา เป็นองศาที่ต่ำเกินไปที่นักกอล์ฟมือสมัครเล่นทั่วไปจะตีให้ลูกกอล์ฟยกตัวให้ลอยสูงขึ้น และควบคุมระยะให้ได้ไกลขึ้นได้ ผู้ผลิตจึงผลิตก้านฯที่ประกอบติดมาให้มีน้ำหนักก้านที่เบา และมีความอ่อนตัวสูงโดยเฉพาะที่ส่วนปลายก้าน (Low Kick หรือ Low Bending) ซึ่งจะทำให้องศาหน้าไม้ที่ปะทะลูกเป็นมุมองศาที่สูงขึ้น (High Dynamic Loft) จาก 9.5 / 10.5 เป็น 14/15 องศา เพื่อชดเชยกับองศาหน้าไม้จริงที่ต่ำ ซึ่งจะให้เกิดมุมเหิน (Launch angle) ที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ระยะตามหลักฟิตติ้งไม้กอล์ฟ แต่ด้วยเหตุนี้ก็จะมีข้อเสียก็คือ การควบคุมหน้าไม้ให้สแควร์ ตีเข้ากลางหน้าไม้ได้บ่อยๆครั้งจะลดลง เพราะก้านที่ยาว และอ่อนกว่าปกติ ดังนั้นนักกอล์ฟที่ต้องการตีให้ได้ต้องปรับวงสวิงให้เข้ากับไม้กอล์ฟ ด้วยการลดความเร็วสปีด หรือสวิงให้ช้าลง ถึงจะควบคุมได้ ด้วยเหตุนี้จะได้ระยะที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็เป็นไปได้ยากครับ

ยกตัวอย่างง่ายๆ ลองเปรียบเทียบสเปค ระหว่างไดร์ฟเวอร์ กับ ชุดเหล็กก็ได้ครับ ถ้าไดร์ฟเวอร์มีองศาหน้าไม้ที่ต่ำ และมีน้ำก้าน/น้ำหนักรวมที่เบา จะทำให้ตีได้ง่าย ได้มุมเหินที่ดี ได้ระยะมากขึ้น ก็น่าจะเป็นวิธีคิดแบบเดียวกันว่า ทำไมในชุดเหล็ก ซึ่งเหล็กยาว (เหล็ก 4) มีองศาหน้าไม้ต่ำ / น้ำหนักเบากว่า และความยาวก้านที่ยาวกว่าเหล็กอื่นๆในชุด (คล้ายๆกับไดร์ฟเวอร์) มันก็หน้าจะตีได้ง่ายกว่าเหล็กสั้นสิครับ แต่กลับเป็นว่าเหล็กสั้น (เหล็ก 6 หรือ 7) ที่มีองศาหน้าไม้ที่มากกว่า และน้ำหนักรวมที่มากกว่า แต่ตีได้ง่ายและควบคุมระยะได้ตามต้องการกว่าเหล็กยาวเสียอีก หรือหากเปรียบเทียบกับหัวไม้ Fairway wood#3 หรือ Fairway wood#5 ก็คงเป็นวิธีคิดแบบเดียวกันใช่ไหมครับ (แล้วท่านยังจะอยากใช้องศาหน้าไม้ในไดร์ฟเวอร์ที่ต่ำ และมีก้านที่ยาวอีกหรือเปล่าครับ)

ความยาวก้านที่ตีเข้ากลางหน้าไม้บ่อยขึ้น
ดังนั้นองศาหน้าไม้ (Loft Angle) และความยาวก้าน (Club Length) เป็นตัวควบคุมระยะและทิศทางมากกว่าองค์ประกอบอื่นๆ ที่จะทำให้นักกอล์ฟมีระยะที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่ตัวก้านที่จะนำมาพิจารณาเป็นปัจจัยหลักในการเลือกและปรับปรุงเพื่อให้ได้ระยะ สำหรับก้าน ควรคำนีงถ้าน น้ำหนักก้าน (Shaft Weight) และ ความอ่อนแข็งก้าน (Flex หรือ Bending Profiles) ซึ่งควรเลือกตามความแข็งแรง และทักษะการสวิงที่ต่างกันของแต่ละคน ซึ่งไม้กอล์ฟที่วางขายอยู่ตามชั้นในห้างนั้นได้บังคับสเปคให้ผู้ซื้อใช้ไว้เรียบร้อยแล้ว ทั้งองศาหน้าไม้ / ความยาวก้าน และน้ำหนักก้าน ที่ดูแล้วไม่น่าจะเหมาะสมกับนักกอล์ฟส่วนใหญ่เลย เหมือนท่านโดนบังคับซื้อ หรือลองซื้อมาใช้ดูว่าเผื่อจะตีได้ ผมถือว่าเป็นการเสี่ยงโชคนะครับ โชคดีก็ตีได้ โดยไม่มีวิธีคิดตามหลัก Golf Club Fitting แต่เป็นน่าเสียดายกับหลายๆท่านที่ซื้อมาแล้ว ลองแล้วไม่โดน ไม่ถูกใจ ก็ต้องขาย และเปลี่ยนมาซื้อแบนด์อื่นๆวนเวียนไปจนกว่าจะเจอไม้กอล์ฟที่ถูกใจ สรุปแล้วน่ามีไดร์ฟเวอร์หลายอัน อาจเปิดร้านขายไม้กอล์ฟมือสองในบ้านได้เลยนะครับ