22 กรกฎาคม 2559

คุณสมบัติก้านไม้กอล์ฟ III

ขอให้ความรู้เพิ่มเติมจาก การเลือกหาก้านไม้กอล์ฟที่เหมาะสมไปแล้ว ว่ามีวิธีเลือก และพิจารณาก้านไม้กอล์ฟอย่างไรบ้าง ในบทความก่อนๆ คราวนี้ขอเพิ่มเติมเรื่องวัสดุ และการนำไปใช้ของก้านไม้กอล์ฟบ้าง

ก้านกราไฟท์ (Graphite Shaft) ส่วนใหญ่นักกอล์ฟจะพูดถึงกันมากกว่าก้านเหล็ก (Steel Shaft) และนิยมเปลี่ยนกันมากโดยเฉพาะใน Driver เนื่องด้วยนักกอล์ฟส่วนใหญ่อยากจะตีให้ได้ไกลขึ้น ตรงขึ้น ซึ่งวัสดุของการผลิตก้านกราไฟท์นั้นมาจากเส้น Micro Carbon เล็กๆที่จัดเรียงเป็นแผ่นแล้วมารีดด้วยความร้อนทำให้เป็นทรงกลม ให้มีความยืดหยุ่นงอตัวสูงตาม ความหนาของผนังก้าน (Wall Thickness) ตลอดตัวก้าน ด้วยเหตุผลการยืดหยุ่น และงอตัวสูงของก้านกราไฟท์นี้เอง จะทำให้มีอายุการใช้งานของตัวมันเอง ซึ่งแตกต่างจากก้านเหล็ก ที่มีวัสดุจะคงทนมากกว่าตลอดอายุการใช้งาน นอกเสียจากว่าก้านเหล็กโดนน้ำเกาะนานทำให้เกิด " สนิม " ที่จะทำให้ก้านเหล็กเสื่อมสภาพ

"ก้านเสื่อม" / "ก้านตาย" ที่บรรดานักกอล์ฟ หรือช่างไม้กอล์ฟทั่วไปเรียก ก้านกราไฟท์ที่ผ่านการใช้งานมานานแล้ว ซึ่งจริงๆ ก็คือ คุณสมบัติของก้านนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากสเปคเดิม เช่น จาก Flex ที่แข็ง กลายเป็นอ่อนลง (จาก Flex S มาเป็น Flex R เป็นต้น) ก้านกราไฟท์เมื่อผ่านการใช้งานมาระยะเวลาหนึ่งแล้วนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความถี่ ความบ่อยในการใช้งานมากน้อยขนาดไหน นั่นก็ไม่ได้หมายถึงระยะเวลาจากที่ซื้อมา เช่น ก้านใหม่ที่ใช้งาน สัปดาห์ละ 3 ครั้ง กับ ก้านที่ใช้งาน เดือนละครั้ง ก็จะมีการเปลี่ยนสภาพ และคุณสมบัติที่ต่างกัน

ก้านที่มีน้ำหนักเบา ผนังก้านก็จะบาง อายุการใช้งานจะเสื่อมง่าย และเร็วกว่า ก้านที่มีน้ำหนักมากกว่า (ผู้ใช้มี Club Head Speed เดียวกัน) ดังนั้นถ้าหากท่านชอบเลือกซื้อก้านไม้กอล์ฟมือสองจาก Online Shopping ที่ต้องการเพียงได้ก้านราคาถูก แต่ก็ควรถามประวัติการใช้งานก้านนั้นด้วย เนื่องจาก ก้านมือสองส่วนใหญ่จะมีการตัดก้านมาแล้ว และผ่านการโดนความร้อน จากการถอดก้านจากหัวไม้กอล์ฟเดิมมากี่ครั้ง (มือสอง หรือ มือสามแล้ว) มีการตัด ปลายก้าน (Tip Trim) หรือตัดโคนก้าน (Butt Trim) มาแล้วอย่างไร ความยาว / น้ำหนักก้าน เหลืออยู่เท่าไร ซึ่งปัจจัยนี้สำคัญมากกับการนำก้านกราไฟท์นั้นไปใช้ต่อ เพราะถ้าหากท่านสนใจเพียงแต่รูปลักษณ์ภายนอกเรื่องของแบนด์ (แท้ / เทียม) หรือเพียงราคาขายเท่านั้น ท่านก็จะได้ก้านที่มีตัดแต่งมาแล้วอย่างไรไม่รู้ ซึ่งจะได้สเปคก้าน และคุณสมบัติก้านฯ ที่ท่านต้องการจริงๆหรือเปล่า????? (สาเหตุนี้ก้านใหม่ย่อมดีกว่า มั่นใจในสเปคที่ต้องการกว่าอย่างแน่นอน)

ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า คุณสมบัติของก้านนั้น ต้องเข้าใจว่ามาจาก โครงสร้างในตัวก้าน ไม่ใช่สี หรือแบนด์ของก้าน เพราะแบนด์หนึ่งแบนด์ ยังมีก้านอีกหลายๆรุ่นให้เลือก ดังนั้นควรเลือกที่คุณสมบัติของเนื้อในก้านจริงๆดีกว่า เช่น น้ำหนักก้าน (Shaft weight) / Flex ที่บอกค่าเป็น CPM เพราะ Flex ที่เป็นตัวอักษรไม่มีค่ามาตรฐาน / จุดดีดก้าน (Bend Profile) และสุดท้ายที่สำคัญที่สุดคือ การประกอบ (Club Assembly) ให้ได้สเปคที่เหมาะกับตัวนักกอล์ฟแต่ละคน ที่ไม่เหมือนกัน เพราะเพียงแต่ก้านไม้กอล์ฟโดยลำพังไม่ใช่เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้ไม้กอล์ฟนั้นเหมาะสมกับนักกอล์ฟหนึ่งคน


ไม่มีความคิดเห็น: