16 ธันวาคม 2556

คุณสมบัติก้านไม้กอล์ฟว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร

ก้านไม้กอล์ฟที่เรามองเห็นอยู่ทั่วไปนั้น ท่านรู้ไหมว่ามันมีลักษณะแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งไม่เป็นเพียงตัวอักษรที่พิมพ์บนก้านไม้กอล์ฟว่าเป็น Flex อะไร เช่น Flex R / S หรือมีสีสรรที่สวยงาม และโลโก้ของแบนด์ที่บอกบนก้าน เพียงเท่านี้หรือ...ที่นักกอล์ฟสามารถค้นพบหาก้านไม้กอล์ฟที่เหมาะสมกับตัวเองได้อย่างถูกต้อง

ก้านแบนด์ที่วางขายทั่วไป
นักกอล์ฟหลายท่านปรารถนาที่จะมีไม้กอล์ฟประจำตัวดีๆสักชุด ที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดกับตัวเอง ส่วนใหญ่ก็จะนิยมมองการปรับแต่ง ก้านไม้กอล์ฟดีๆมาทดแทนอันเดิมที่ติดมาจากโรงงาน หรือ ทำ Fitting หรือโมดิฟายที่เรียกๆกัน การที่จะหาก้านโมดิฟายสักก้านนั้นมันก็มีมากมาย หลายยี่ห้อ หลายรุ่น (ที่เป็นยี่ห้อเดียวกัน) แล้วควรเลือกอันไหนล่ะที่จะตรงประเด็นมากกว่า โดยที่ไม่ต้องเสียเงินเปล่าเพราะไม่ถูกใจ เพราะเปลี่ยนตามเพื่อน ตามโฆษณาว่าเป็นก้านใหม่ล่าสุดเพิ่งวางตลาด

โครงสร้างของก้านไม้กอล์ฟนั้น หากดูภายนอกก็จะไม่ทราบรายละเอียดคุณสมบัติว่าก้านฯนั้นมันแตกต่างกันอย่างไร และจะให้ประสิทธิภาพกับนักกอล์ฟแต่ละคนอย่างไร ที่มีความต่างทางสรีระ และความสามารถในการสวิง เพราะหากเลือกดูเฉพาะ Flex ที่บอกบนก้านนั้น ก็ไม่ได้เป็น Flex ที่มาตรฐานแต่อย่างใด เช่น Flex R ของแบนด์หนี่งความอ่อน/แข็ง ก็จะไม่เหมือนกันกับ Flex R อีกแบนด์หนึ่ง หรืออาจจะเท่ากันกับ Flex S ก็ได้ อาจจะทำให้ผิดพลาดได้

ซึ่งบางท่านอาจทราบแล้วว่าการวัด Flex หรือความอ่อนแข็งของก้านไม้กอล์ฟนั้น เขาวัดกันที่ความถี ( Frequency) ของก้านเมื่อมีการดีด ขึ้น-ลง ต่อความยาวหนึ่งเท่านั้น ที่มีค่าออกมาเป็น CPM (Circle Per Minute) หมายถึง ความถึ่ที่ดีด ขึ้น และ ลง จำนวนหนึ่งรอบ (Circle) ต่อหนึ่งนาทีมีค่าเฉลี่ยออกมาเท่าไร หากมีค่ามาก ก็ถือได้ว่าก้านนั้นมีความแข็งมาก และค่าน้อยก้านนั้นก็จะอ่อน ซึ่งความยาวก้านนั้นก็มีผลต่อค่า CPM นี้ด้วย หากนำมาเปรียบเทียบความอ่อน/แข็ง ในก้านต่อก้าน

ซึ่งในปัจจุบันบริษัทก้านไม้กอล์ฟก็จะโฆษณาบอกรายละเอียดเพิ่มเติมไปบนก้านว่า ก้านรุ่นนั้นมี CPM เท่าไร ให้เป็นเทคนิคทางการตลาดมากขึ้นกับผู้บริโภคในการเลือก แต่เท่านั้นก็ยังวัดคุณสมบัติก้านนั้นได้ไม่ทั้งหมด เป็นเพียงวัดค่า CPM ที่โคนก้านเท่านั้น (Butt Flex) ซึ่งก้านไม้กอล์ฟนั้นไม่ได้ทำงานเฉพาะที่โคนก้านอย่างเดียวเท่านั้น ยังมีความสำคัญในส่วนของปลายก้านด้วย (Tip Flex)

สเปคก้านไม้กอล์ฟที่บอกรายละเอียดทั่วไป
Tip Flex อ่อน หรือแข็งนั้นจะให้การดีด และการควบคุมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการโหลดก้านที่ใส่เข้าไป หรือ ความเร็วสปีด (Club Head Speed) ที่ทำได้ว่าเหมาะสมกับก้านที่มี Tip Flex อ่อน/แข็งอย่างไร แต่รับรองได้เลยว่า ก้านไม้กอล์ฟที่วางขายเป็นแบนด์ดังด้วยนั้น เขาจะไม่บอกรายละเอียด ของ Tip Flex นั้นแน่นอน อาจบอกเพียง Kick Point หรือ จุดงอตัวดีดว่า สูง / กลาง / ต่ำ (Low/Mid/High Kick point) หรือ มีค่า Torque กำกับอยู่ด้วยเท่านั้น ( Torque คือค่าการบิดตัวก้านมีหน่วยเป็นองศา หากบิดองศามาก ก้านอ่อน และองศาน้อยก้านแข็ง ซึงก็ไม่ต่างอะไรกับค่า Flex ที่ไม่เป็นค่ามาตรฐานนั่นเอง)

ค่า CPM บนก้านที่เหมือน และแตกต่างกันเมื่อนำมาเปรียบเทียบในสเปดเดียวกัน























ซึ่งเมื่อเข้าร้าน Professional Club Fitting ควรมีเครื่องวัดค่า CPM เพื่อเปรียบเทียบก้าน ต่อ ก้านได้ ซึ่งท่านนักกอล์ฟไม่จำเป็นต้องทราบว่า ก้านนั้นบอกอะไรบนก้าน หรือเป็นยี่ห้อดัง เพราะก้านที่ต่างกันจริงๆ หรือเหมือนกันนั้น ประการแรกควรเปรียบเทียบ น้ำหนักก้าน (Shaft Weight) ว่ามีน้ำหนักอย่างไร และ ประการที่สองคือ ความทราบว่า CPM บนก้านว่าเป็นอย่างไร ตั้งแต่โคนจรดปลายก้าน เพื่ิอให้ได้ก้านที่เหมาะสมกันนักกอล์ฟหนึ่งคน และ ประการสุดท้ายที่จำเป็นอย่างยิ่งประกอบการวิเคราะห์ ต้องตรวจสอบวงสวิง และความเร็วหัวไม้ ว่าเป็นนักกอล์ฟที่มีวงสวิงอย่างไร จึงจัดก้านได้อย่างเหมาะสมและใกล้เคียงที่สุดตามคุณสมบัติของก้านฯที่ออกมาจริงๆ

ดังนั้นจำเป็นหรือไม่ที่จะต้องเป็นก้านฯยี่ห้ออะไร หากมีน้ำหนักก้าน และค่า CPM บนก้านที่เหมือน หรือใกล้เคียงกัน เรื่องของแบนด์ หรือยี่ห้อ ก็ไม่มีความหมายอะไรเลยที่จะนำไปใช้จริง เพียงแต่เรื่องราคา และการพิจารณาของท่านเอง ว่าท่านต้องการอะไรจากก้านฯที่กำลังจะซื้อนั้น ไว้ใช้ / โชว์  หรือเพื่อขายต่อละครับท่าน

17 พฤศจิกายน 2556

ไม้กอล์ฟที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ ไม่ใช่มาจากชั้นวางขายในห้าง/ร้านทั่วไป (Your best golf clubs should not off from the shelf)

การที่จะหาไม้กอล์ฟเหมาะสมกับนักกอล์ฟหนึ่งคนนั้น ดูเหมือนมันไม่น่าจะยากเย็นอะไรหนักหนา ก็แค่เดินไปเลือกซื้อตามห้าง/ร้านขายไม้กอล์ฟ และสอบถามว่าไม้กอล์ฟชุดไหน/อันไหนดี และเทคโนโลยีใหม่สุด หรือเป็นรุ่นล่าสุด ก็น่าจะได้ไม้กอล์ฟที่เหมาะสม และดีที่สุดแล้ว แต่ทำไมนักกอล์ฟทั่วไปยังค้นหาไม้กอล์ฟ หรือการปรับแต่งเปลี่ยนก้านฯ จากแบนด์นั้นไปหาแบนด์นี้ จากสเปคนี้ ไป หาสเปคนั้น แบบฟังเขาเล่าว่า หรือตามโฆษณา จนบางครั้งไม่รู้ว่าอันไหนดี และเหมาะสมกับตัวเองที่สุดจริงๆ จนถึงปัจจุบันมีไม้กอล์ฟ / ก้านไม้กอล์ฟ ไม่รู้กี่สิบอันแล้วเก็บไว้ในบ้าน หรือกำลังจะประกาศขายราคาถูกตามเว๊ปขายสินค้าทั่วไป

Standard spec ที่ต้องมาปรับแต่งใหม่
กีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่เล่นให้สนุก หรือเล่นให้ได้ดียากพอสมควร ก็เพราะในการควบคุม หรือตีลูกกอล์ฟให้เป็นไปอย่างตั้งใจนั้นยากจริงๆ ก็อาจเป็นเพราะขนาดของลูกกอล์ฟเกือบเท่าขนาดของหน้าไม้ ซึ่งไม่เหมือนกับกีฬา (ตีลูก) ในประเภทอื่นๆ เล่นง่ายกว่ามาก และไม่ต้องมาเปลี่ยนอุปกรณ์กันให้ปวดหัว นอกจากนั้นแล้วกีฬากอล์ฟยังต้องฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมออีกด้วย มิเช่นนั้นแล้ว สิ่งที่เคยตีได้มันกลับตีไม่ได้แล้ว ทั้งๆที่ไม้กอล์ฟก็อันเดิม ไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย ซึ่งอาจเกี่ยวกับอายุที่มากขึ้น หรือการฝีกซ้อมน้อยลง ทำให้ความแข็งแรงร่างกาย และทักษะทางกีฬานั้นเปลี่ยนไปนั่นเอง
สเปค หรือ ขนาดที่ไม่พอดี

แต่ที่สำคัญทีสุดสำหรับกีฬากอล์ฟ ก็คือไม้กอล์ฟทั้ง 14 อันนั่นเอง ที่ควรมีอุปกรณ์ให้เป็นไปตามทักษะ และความสามารถของร่างกายดีกว่านะครับ บางท่านก็ทนใช้อุปกรณ์ที่ไม่เหมาะสมกับตัวเอง เพราะความไม่รู้ หรือเสียดายทนใช้ไปก่อน และปรับวงสวิงตัวเองให้เข้ากับอุปกรณ์ นั้นจะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ นะครับ จะทำให้การพัฒนาวงสวิงแย่ไปกว่าเดิม และแก้ไขวงสวิงจะยากกว่าการแก้ไขอุปกรณ์มากเลยครับ ลองมาพิจารณาว่าสเปคไม้กอล์ฟที่วางขายตามร้านทั่วไปนั้นเป็นอย่างไร

สาเหตุที่ไม้กอล์ฟที่วางขายบนชั้นวางสินค้า (Standard Spec) ตามห้างร้านทั่วไปนั้น ทำไมจึงไม่เหมาะสม และดีที่สุดให้กับความต่างของนักกอล์ฟแต่ละคน
  1. เป็นไม้กอล์ฟที่ผลิตเเพื่อขายตามวัตถุประสงค์ทางการตลาด มีสเปคให้เลือกน้อย (One Size Fit All) และการประกอบไม้กอล์ฟไม่ใช่เฉพาะบุคคล (Mass Production) ที่มีความต่างทางสรีระร่างกาย และทักษะทางกีฬา
  2. องค์ประกอบหัวไม้กอล์ฟ (Club Head Design) มีอยู่ 1-2 แบบ ซึ่งไม่ตอบสนองความต้องการในรูปแบบวงสวิงที่ไม่เหมือนกัน เช่น องศาหน้าไม้ (Loft Angle) / หน้าไม้ปิด/สแควร์/เปิด (Face Angle) ซึ่งความแม่น / การควบคุมหน้าไม้ให้สแควร์ / ตีบอลไม่ลอย มีมุมเหินที่ต่ำ
  3. มุมระนาบหน้าไม้ (Lie Angle) ที่มีวางขายอยู่แบบเดียว แต่การสวิง กับความสูงของข้อมือถึงพื้น หรือความยาวแขน ของนักกอล์ฟไม่เท่ากันในแต่ละคน ซึ่งจ้าว Lie Angle นี้เป็นตัวกำหนดทิศทาง ซ้าย/ขวา เมื่อลูกกอล์ฟออกจากหน้าไม้ฯ (Lie Angle ซึ่งก็มีผลกระทบต่อความยาวก้าน และการยืนจรดลูกที่เปลี่ยนไปด้วย)
  4. มุมองศาหน้าไม้ (Loft Angle) ในไดร์ฟเวอร์ มีองศาที่ให้เลือกเพียง 2 แบบ คือ 9.5 หรือ 10.5 ซึ่งนักกอล์ฟที่มีความเร็วสปีดที่ช้า อาจจะต้องการมุมเหิน (Launch Angle) ที่ดีหรือมากกว่านั้น และในชุดเหล็กก็มีองศาที่บังคับตามสเปคโรงงานที่จัดมาแล้ว ซึ่งเมื่อองศาหน้าไม้ก็ไม่ตรงตามความต้องการของแต่ละคน
  5. น้ำหนักก้านฯ (Shaft Weight) ที่มีอยู่แบบเดียว โดยเฉพาะในชุดเหล็ก หรือ สองแบบ ในหัวไม้ ซึ่งมีจำกัด เพราะน้ำก้านเป็นตัวควบคุมน้ำหนักรวมไม้กอล์ฟ (Total Weight) ซึ่งกำหนดความสม่ำเสมอ หรือความแข็งแรงร่างกายในการตีกอล์ฟให้ใกล้เคียง หรือเหมือนเดิมที่สุดใน 18 หลุม (ใน 4-5 ชั่วโมงของการออกรอบ) 
  6. ความอ่อน/แข็งก้าน (Shaft Flex) มีอยู่สองแบบ Flex R หรือ S ไม่รู้ว่าจุดดีดสูง หรือต่ำ (Bending Profile) ที่ทำให้มุมเหินลูกกอลฟเหมาะกับวงสวิงที่ไม่เหมือนกัน รวมทั้งความเร็วหัวไม้ (Club Head Speed) ที่แตกต่างกัน
  7. ความยาวก้านฯ (Club Length) ที่มีขนาดเดียว ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดที่ทำให้นักกอล์ฟที่ต่างความสามารถในสวิงตีลูกกอล์ฟให้ตรงกลางหน้าไม้ได้บ่อยครั้ง เพิ่มให้เกิดการควบคุมหน้าไม้ และความแม่นยำที่ดีทีสุด (High Accuracy) ประมาณ 90% ไม้กอล์ฟที่วางขายมีความยาวที่มากเกินไปสำหรับนักกอล์ฟ
  8. แนวดีดก้าน (Neutual Bending Position) หรือ หลายคนเรียก การจัดกระดูกก้าน (Spine Alignment) เพราะก้านที่ประกอบจากโรงงานแบบ Mass production นั้น ไม่มีการจัดเรียงการดีดก้านให้ได้เหมือนกันเกือบ 100% ก็ว่าได้ ทำให้การสวิง และการดีดก้านในไม้กอล์ฟมีไม่เหมือนกัน จะเห็นได้ชัดเจนโดยเฉพาะในชุดเหล็ก เพราะก้านไม้กอล์ฟไม่สามารถผลิตให้ได้มีพื้นผิวกลมได้ 360 องศา
  9. ขนาดกริ๊ป (Grip Size) ซึ่งนักกอล์ฟทั่วไปมองข้ามสิ่งเล็กๆที่สำคัญไป ไม้กอล์ฟที่วางขายอยู่มีขนาดกริ๊ปเดียว (เหมือนบังคับใช้) ที่ผลิตออกมา แต่ขนาดมือของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน และเป็นผลให้การอิมแพคลูกกอล์ฟได้ไม่หนักแน่เท่าที่ควรเป็น และขนาดกริ๊ปก็กำหนดทิศทางของลูกกอล์ฟด้วยเช่นกัน
  10. การกระจายน้ำหนักบนไม้กอล์ฟ (Weight Distribution) หรือ หลายคนเรียกว่า สวิงเวท (Swing Weight) ก็มีแบบเดียว ซึ่งเป็นตัวกำหนดให้ไม้กอล์ฟหนึ่งไม้ นั้นสวิงได้ยาก หรือง่าย ขึ้นอยู่กับความแข็งแรง บวกกับความรู้สึกในการสวิงที่แตกต่างออกไปของนักกอล์ฟหนึ่งคน
ลองพิจารณาดูนะครับสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ว่าเป็นเหตุเป็นผลหรือไม่ ที่ไม้กอล์ฟที่วางขายตามชั้นบนห้าง/ร้านทั่วไปนั้นเหมาะสมกับตัวท่านเอง และคุ้มกับราคาที่ยอมจ่ายเพื่อให้ได้มา หรือว่าท่านควรจะมองหา Professional Club Fitting ที่สามารถให้คำตอบ และจัด / ปรับ / แต่งไม้กอล์ฟให้เข้า หรือเหมาะสมหรือใกล้เคียงกับวงสวิงของท่านที่สุด ซึ่งท่านไม่สามารถหาซื้อได้จากไม้กอล์ฟสำเร็จรูปที่วางขายอยู่ทั่วไปได้เลยนะครับ

27 ตุลาคม 2556

จุดดีดปลายก้าน (Bending Profile) กับวงสวิง ส่งผลต่อมุมเหิน และระยะ

การที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในแต่ละก้านนั้นมีจุดดีดตัวปลายก้านที่แตกต่างกัน ตามการออกแบบในแต่ละก้าน หรือแต่ละรุ่น เราก็ควรเลือก หรือพิจารณาก้านที่นำมาใช้ให้เหมาะกับวงสวิง หรือความสามารถในการสวิงของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จุดดีด (Bend Profile) ในส่วนของปลายก้าน (Tip Flexible) เช่น Low / Mid / High bending หรือ บ้างเรียก Kick Point ที่มีผลต่อมุมของการดีดลูกกอล์ฟออกไป (Trajectory) ว่าจะสูง / กลาง หรือต่ำ ตามการทำงานของก้านที่ออกแบบมานั้น

การคลายมุมข้อมือต่ำกว่าระดับเอว ก่อนการอิมแพค
ไม่เพียงคุณสมบัติของการดีดที่ปลายก้าน (Tip Flexible) ที่มีผลต่อมุมของลูกกอล์ฟที่ออกไปเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับวงสวิงของนักกอล์ฟด้วย ที่จะให้ก้านที่ออกแบบมานั้น ให้ทำงานแบบที่มันควรจะเป็นอย่างเต็มประสิทธิภาพ ถ้าหากนักกอล์ฟมีวงสวิงที่ไม่มีการคลายมุมข้อมือ (No Late Unhinge Wrist) หรือ ไม่รักษามุมข้อมือ ให้ต่ำกว่าระดับเอว ก่อนคลายข้อมือเข้าจุดอิมแพค ก็จะไม่มีการทำงานของก้านที่ส่วนปลายก้าน (Tip Flexible) เป็นไปอย่างที่ควรเป็น หรือไม่ทำงานเลย ก็เพราะก้านจะไม่มีการงอตัวไปด้านหน้า (ในรูป) เพื่อให้เกิดสปริงดีดที่ปลายก้านก่อนจุดอิมแพค

ซึ่งการรักษามุมข้อมือให้ได้นาน หรือต่ำกว่าระดับเองแล้วนั้น จะทำให้เกิดการโหลดก้าน (Force Transition) ทำให้ก้านงอตัวเพื่อเกิดการสะสมพลังก่อนการดีดก้าน เมื่อปล่อย หรือคลายข้อมือเข้าหาจุดอิมแพค ดังนั้นคุณสมบัติการดีดที่ปลายก้านก็จะเป็นไปอย่างที่ควรเป็น ซึ่งการทำงานดีดนี้จะมีผลต่อองศาหน้าไม้ / Angle of Attack และสปินเรทที่เปลี่ยนไป จึงมีผลต่อมุมเหินที่เปลี่ยนไป และผลของระยะที่ตามมาอีกด้วย

17 ตุลาคม 2556

การเลือกสวิงเวทให้เหมาะสมกับวงสวิง และอุปกรณ์ของตัวเอง

สวิงเวท (Swing Weight) ที่นักกอล์ฟทั้งมือใหม่ หรือมือดีทั่วไปรู้จักกันและพูดถึง เมื่อไรก็ตามที่มีการปรับแต่งไม้กอล์ฟ หรืออาจเป็นเพราะยังไม่มีข้อมูลสเปคอื่นๆของไม้กอล์ฟที่สำคัญกว่า ก็จะนำเอาข้อมูลของสวิงเวทที่เขาบอกมา หรือเขาเล่าว่า หรือเขาใช้กัน ว่าควรทำ หรือ มีไม้กอล์ฟที่มีสวิงเวทเท่านี้ หรือเท่านั้นจะดี เช่น สวิงเวทให้น้ำหนักอยู่ที่หัวไม้กอล์ฟต้องมีสวิงเวทประมาณ D2-D4 จะให้ความรู้สึกที่หัวไม้กอล์ฟที่ดี และสวิงที่เบาก็ต้องอยู่ประมาณ C6-C9 แทบจะไม่มีความรู้สึกที่หัวไม้กอล์ฟในขณะที่ดาวสวิงลงมา

ซึ่งจริงๆแล้ว สวิงเวทนั้นไม่ใช่น้ำหนักที่แท้จริงของไม้กอล์ฟ (ซึ่งได้เคยพูดไปในหลายบทความก่อนๆแล้ว) สวิงเวทเป็นเรื่องของความรู้สีกในการสวิง (Not real weight but just Feel Factor) เป็นความรู้สึกในการสวิงของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน และแตกต่างกันไปตาม ความแข็งแรง / ทักษะในการสวิง ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจริงๆแล้ว ไม้กอล์ฟที่มีค่าสวิงเวทที่เท่ากัน แต่มีน้ำหนักรวมไม้กอล์ฟ (Total Weight) ที่ไม่เท่ากันได้ และก็มีความรู้สึกในการสวิงที่แตกต่างกัน ถึงแม้มีค่าสวิงเวทที่เท่ากันก็ตาม

ตัวอย่างเช่น ไม้กอล์ฟทีจำหน่ายและวางอยู่บนชั้นทั่วไปในร้าน ก็จะมีค่าสวิงเวทที่เหมือนกัน หรือเป็นค่าเดียวกันที่ประกอบเป็นสเปคเดียวกันมาจากโรงงานเลย เพื่อเป็นค่ากลาง (One Size Fit All) ซึ่งอาจจะมีค่าสวิงเวทเหมาะกับนักกอล์ฟบางคนเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เหมาะกับนักกอล์ฟทุกคนที่จะเหมาะกับสวิงเวทนั้น

หากท่านมีโอกาส หรือคิดจะปรับแต่งไม้กอล์ฟขึ้นมา เพราะไม้กอล์ฟเดิมที่ซื้อมาราคาแพงๆ ซึ่งคิดว่าน่าจะดี เพราะราคาแพงแล้วก็น่าจะทำมาอย่างดี แต่ปรากฏว่ายังตีไม่ได้อย่างใจ มีน้ำหนักมากไป ก้านแข็งไป และก็ไม่รู้ว่าอีกด้วยว่า ไม้ฯมันหนักด้วยน้ำหนักอะไร เพราะไม่มีข้อมูลบอกในตอนซื้อเลยว่า มีสวิงเวทเท่าไร และ น้ำหนักรวม (Total weight) เท่าไร แถมก้านยังรู้สึกว่าแข็งทื้อ ไม่รู้สึกดีดเลย ทั้งๆที่เป็นก้าน R (Regular flex) บวกกับแต่ละไม้มีความรู้สึกในการสวิงที่ไม่เหมือนกัน บางเหล็กตีได้ บางเหล็กไม่ ทำให้ลังเลว่าควรจะตัดสินใจขายทิ้ง เพื่อซื้อชุดใหม่ ที่เป็น Standard Spec มาใช้อีก หรือนำมาปรับ/แต่ง ให้ได้น้ำหนัก หรือ สวิงเวทที่เหมาะกับตัวเอง ว่ามันเป็นเพราะอะไร แบบมีหลักเกณฑ์ (Club Fitting) ดีไหม??

สวิงเร็ว/แข็งเรง ควรมีสวิงเวทที่สูง/หนักจะเหมาะกว่า
ค่าสวิงเวทที่หนัก หรือเบานั้น อย่างไรที่จะเหมาะกับนักกอล์ฟในแต่ละคนนั้น ขึ้นอยู่กับ ความสามารถในการสวิง และ น้ำหนักจริงของ หัวไม้กอล์ฟ / ก้าน และ กริ๊ป ที่มีอยู่นั้นนำมาประกอบรวมกัน เพื่อทำให้การกระจายน้ำหนักเหล่านั้นที่มีอยู่ให้เหมาะสมตามต้องการ ว่าจะให้มีสวิงเวท มีน้ำหนักไปที่หัวไม้มากน้อยเพียงไร ซึ่งไม้กอล์ฟที่ผลิตมาให้รุ่นๆหนึ่งก็จะสวิงเวทออกมาเหมือนกันหมด เพราะเป็นปัจจัยในการผลิตที่ไม่สามารถทำสวิงเวทให้หลายหลากได้

การมีสวิงเวทของไม้กอล์ฟที่แตกต่าง ก็เพราะนักกอล์ฟก็มีวงสวิงที่แต่ต่างกัน เช่นนักกอล์ฟที่ไม่ได้ใช้การสวิง ด้วยการหมุนไหล่ คือใช้แขนเร่งตีลงมาเป็นส่วนใหญ่ ในขณะ Down Swing กับนักกอล์ฟที่ใช้การหมุนไหล่ บวกกับการรักษามุมข้อมือ และคลายออกเพื่อเร่งความเร็วก่อนการอิมแพค  (Late Release) ย่อมควรใช้สวิงเวทที่แตกต่างกัน เพื่อที่จะให้ก้านไม้กอล์ฟทำงาน หรือ Load Force ไปที่ก้านที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นยังรวมไปถึงการเร่งความเร็วจากข้างบนลงมา เมื่อเริ่ม Down Swing ในตำแหน่ง Top Swing เพราะฉนั้น นักกอล์ฟที่แข็งแรงที่มีจังหวะการสวิงตั้งแต่จุด Top Swing ควรจะมีสวิงเวทหนักที่มีความรู้สึกที่หัวไม้มากกว่า นักกอล์ฟที่ไม่ค่อยแข็งแรงที่มีจังหวะการสวิงช้า (Medium- Low Tempo) ควรมีสวิงเวทที่หัวไม้เบากว่า จะได้มีจังหวะการสวิงที่ราบเรียบกว่า เพิ่มการควบคุมหน้าไม้ในการอิมแพคได้สแควร์ได้ดีกว่า

นอกจากนัั้นความแตกต่างของน้ำหนักหัวไม้กอล์ฟ / ก้านไม้กอล์ฟ และน้ำหนักกริ๊ป ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเลือกใช้ และ เลือกปรับสวิงเวทให้เหมาะสมกัน เช่น หากนำประกอบเป็นไม้กอล์ฟแล้วนั้นได้สวิงเวทที่เบา สมมุติว่าได้ที่ C 7 (ยังไม่ได้ปรับแต่งอะไรเลย) อยากจะทำให้ไม้กอล์ฟนั้นมีสวิงเวทที่น้ำหนักมากขึ้น อยู่ที่ D 3  หรือสูงขึ้นมากกว่านั้น โดยเพิ่มน้ำหนักถ่วง (Tip Weight) ไปที่หัวไม้กอล์ฟที่เกินความจำเป็น เพื่อให้ได้สวิงเวท D 3 ตามต้องการ แต่ยังไม่ได้เคยทดลองสวิงดูเลยว่า สวิงเวทที่ C 7 / C 8 / C 9 ได้ Feeling ที่ต้องการหรือยัง เพียงแค่อยากเห็นสวิงเวทที่ชั่งออกมาบนตาชั่งให้ได้ D 3 เท่านั้นก็พอ ซึ่งจะส่งผลให้ก้านไม้กอล์ฟนั้นทำงานผิดไปจากสิ่งที่ควรเป็น ซึ่งในตลาดไม้กอล์ฟ Driver แบนด์ดังส่วนใหญ่ในปัจจุบันผลิต Driver ออกมาสวิงเวทที่เหมือนกันหมดในรุ่นเดียวกัน ประมาณ D 3- D 5 แล้วท่านลองคิดสิว่าสวิงเวทนั้น (One size fit all) จะเหมาะกับตัวท่าน หรือเปล่า ซึ่งเป็นไปได้ว่าถ้าสวิงเวทเบากว่านั้นท่านอาจจะมีวงสวิงที่ราบรื่นได้นะครับ และเพิ่มการควบคุมได้ดีกว่าอีกด้วย

หมายเหตุ : การเลือกซื้อหรือปรับเปลี่ยนไม้กอล์ฟโดยที่ยังไม่ได้วัดค่าความเร็วหัวไม้ / วิเคราะห์ภาพเคลื่อนไหวของจังหวะการสวิง / วัดความอ่อนแข็งก้าน (CPM) ที่เหมาะกับความแข็งแรง และทักษะวงสวิง / ขนาดกริ๊ป กับ ขนาดมือ / หรือข้อมูลส่วนตัวในการฝึกซ้อมเกมส์กอล์ฟ แล้วตัดสินใจซื้อไม้กอล์ฟนั้นมา ก็อาจถือได้ว่า ท่านกำลังเสี่ยงโชคซื้อไม้กอล์ฟเลยอ่ะครับ

✅ติดตามเรื่องฟิตติ้งไม้กอล์ฟน่ารู้✅

https://youtube.com/c/TOMTOMIYACLUBFITTING

7 กันยายน 2556

ความเร็วหัวไม้ หรือ สวิงสปีด (Club Head Speed) ที่เท่ากัน..แต่ได้ระยะไดร์ฟที่ไม่เท่ากัน

มีคำพูดว่า "ไม้กอล์ฟ หรือ ก้านที่เบาช่วยให้เพิ่มความเร็วสปีด และความเร็วสปีดจะเพิ่มระยะ" เป็นคำพูดที่ไม่ผิด และเคยได้ยินอยู่เสมอ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดระยะ ควบคู่ไปกับความเร็วสปีด อย่างแยกกันไม่ออกเลยทีเดียว นั้นก็คือ บอลสปีด (Ball Speed) ก็หมายถึง ความเร็วของลูกกอล์ฟที่ออกจากหน้าไม้ฯ หลังจากความเร็วหัวไม้วิ่งเข้าปะทะลูกกอล์ฟที่หน้าไม้ไปแล้ว ซึ่งเป็นตัวกำหนดระยะที่ควรจะได้ที่ใกล้เคียงที่สุด


นักกอล์ฟที่มีความเร็วสปีด หรือ สวิงสปีด ที่เท่ากัน แต่มี Ball Speed ที่ต่างกัน คนที่มีบอลสปีดที่สูงกว่า จะสามารถได้ระยะที่ไกลกว่าอย่างแน่นอน แต่ก็ควรมีค่า "Smash Factor" ที่ดีด้วย เจ้าตัวนี้มันก็คือ ค่าของบอลสปีด หารด้วย ความเร็วหัวไม้  ซึ่งเป็นตัวบงบอกว่าการถ่ายทอดพลังงานจากไม้กอล์ฟ ไปยังลูกกอล์ฟได้ดี และเต็มประสิทธิภาพเพียงใด (Energy Transition) ซึ่งการถ่ายทอดพลังงานที่ดีที่สุดไปยังลูกกอล์ฟ ต้องมีบอลอิมแพ็ค (Ball Impact) ที่ดีด้วยเช่นกัน ดังนั้นการอิมแพ็คของไม้กอล์ฟ กับ ลูกกอล์ฟที่ดีที่สุดนั้นก็คือ ควรอิมแพ็คให้ตรงกลางหน้าไม้ (Center Impact) ทั้งนี้ยังไม่รวมถึง มุมที่อิมแพ็ค (Angle of Attack) ที่ควรนำมาพิจารณาประกอบอีกด้วย

ซึ่งนักกอล์ฟสมัครเล่นทั่วไปพยายามเร่งความเร็วสปีดให้ได้มากๆ โดยใช้ไม้กอล์ฟที่เบา และมีก้านที่ยาวเพื่อจะเพิ่มความเร็วสปีดให้สูงขึ้น และตีให้แรง แต่ควบคุมการสวิงไม่ได้ เพราะคิดว่าจะทำให้ได้ระยะที่ไกลขึ้น ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงการอิมแพ็คที่ดี ให้ได้ตรงกลางหน้าไม้ เลยทำให้บอลสปีดออกมาต่ำ  และบางครั้งนักกอล์ฟที่มีความเร็วสปีดช้ากว่า แต่มี Smash Factor หรือมีบอลสปีดที่สูงกว่า ก็ทำให้ได้ระยะที่ไกลกว่า นอกจากนั้นควรพิจารณาเรื่องมุมปะทะ (Angle of Attack) ว่าเป็นมุมกด / ขนาน หรือมุมเสย ซึ่งเป็นตัวกำหนดอัตราสปิน และระยะที่ควรจะได้ด้วย

ดังนั้นปัจจุบันในการปรับแต่งไม้กอล์ฟอย่างไรให้นักกอล์ฟได้เกิดการอิมแพ็คที่ดี และมีการถ่ายทอดพลังงานที่ดี และเหมาะสม ย่อมมาก่อนการคำนึงถีงการปรับแต่งไม้กอล์ฟให้ได้สวิงสปีดที่ดี หรือสูงขึ้น เพราะจะไม่ช่วยให้นักกอล์ฟตีลูกกอล์ฟได้หนักแน่น และแม่นยำ เพื่อให้โดนกลางหน้าไม้ได้บ่อยครั้งที่สุด ควรปรึกษา Professional Club Fitting และตรวจเช็คความเร็วสปีด และ บอลสปีด รวมถึงมุมปะทะ (Angle of Attack) ว่าของคุณเป็นอย่างไร และควรมีสเปคไม้กอล์ฟอย่างไร

25 สิงหาคม 2556

Swing weight vs MOI matching

การมีไม้กอล์ฟที่มีความรู้สึกในการสวิงที่เหมือนกันในทุกๆไม้ฯนั้นเป็นสิ่งที่ดีมาก ซึ่งจะทำให้มีจังหวะในการสวิงเดียวกันในทุกๆไม้ฯ หรือ One swing tempo  และการที่จะทำให้ไม้กอล์ฟเป็นอย่างนั้นได้นั้น จะต้องปรับ/แต่งค่า MOI matching ของไม้กอล์ฟให้เหมือนกัน หรือใกล้เคียงกันมากที่สุด เพราะค่า MOI matching ของไม้กอล์ฟนั้นเป็นความรู้สึกของการสวิงไม้กอล์ฟทั้งไม้อย่างแท้จริง


ตัวอย่างเช่น ในชุดเหล็กที่มี สวิงเวทที่เท่ากันในทุกๆไม้ จะทำให้มีความรู้สึกในการสวิงแตกต่างกัน ซึ่งจะพบได้สเปกนี้ในไม้กอล์ฟแบนด์ดัง หรือไม้กอล์ฟที่วางขายบนห้างทั่วไป (Standard Spec) ทำให้เป็นการยากที่จะให้การสวิงเป็น One swing tempo ได้ จึงทำให้นักกอล์ฟพยายามปรับจังหวะในการสวิงที่ต่างกันให้เข้ากับไม้กอล์ฟ โดยเฉพาะในเหล็กยาว

ค่า MOI matching นั้นเป็นค่าของไม้กอล์ฟทั้งไม้ที่วัดค่า Balance ของไม้กอล์ฟไปยังโคนกริ๊ป ซึ่งต่างจากการวัดสวิงเวทที่วัด Balance ไม้กอล์ฟไปหาคานรับห่างจากโคนก้าน 14 นิ้ว ย่อมไม่สามารถให้ความรู้สึกในการสวิงของไม้กอล์ฟทั้งไม้ได้

ค่าสวิงเวท (Swing Weight) ที่เหมือนกัน ในไม้กอล์ฟที่มีความยาวต่างกัน และน้ำหนักรวมที่ต่างกัน ย่อมให้ความรู้สึกในการสวิงที่ต่างกันด้วยเช่นกัน ก็เพราะ สวิงเวทค่าของความรู้สึก (Feeling Factor) ซึ่งแต่ละคนจะมีความแตกต่างกัน และในไม้กอล์ฟแต่ละไม้กอล์ฟที่มีน้ำหนักต่างกัน แต่มีสวิงเวทที่เท่ากัน ก็จะให้ความรู้สึกที่ต่างกัน ดังนั้นสวิงเวทไม่ได้เป็นค่าของน้ำหนักที่แท้จริงของการสวิง

2 สิงหาคม 2556

ไดร์ฟให้ได้ระยะไกลขึ้น ควรมี High Launch และ Low Spin

ความเข้าใจของนักกอล์ฟส่วนใหญ่ที่อยากไดร์ฟให้ได้ระยะไกลขึ้น ส่วนใหญ่แล้วจะใช้องศาหน้าไม้ (Loft Angle) ของไดเวอร์ให้มีองศาที่น้อย/ต่ำ (ต่ำกว่า 10.5 องศา) เพราะคิดว่าจะได้วิถึของลูกกอล์ฟที่ไดร์ฟออกไปได้มุมเหินที่ต่ำ เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกวิ่งได้ดีกว่า และได้ระยะกว่าองศาหน้าไม้ที่มาก/สูง โดยเฉพาะนักกอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ (Club Head Speed) ที่ไม่เกิน < 95 MPH ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะมุมเหิน (Trajectory) ที่ได้ระยะที่ดีควรต้องสูงพอดี และลอยอยู่ในอากาศ (Optimum Launch Angle) ก่อนลูกกอล์ฟจะค่อยๆลดระดับลง และตกลงสู่พื้น (Carry Distance)

ความเร็วหัวไม้ (Club Head Speed) ก่อให้เกิดอัตราสปิน (Spin Rate) และอัตราสปินก่อให้เกิดการยกตัวของลูกกอล์ฟให้ลอยสูงขึ้น (Launch Angle) ซึ่งความเร็วหัวไม้สูง/เร็ว ก็เกิดอัตราสปินที่มาก แต่การสปินที่มากเกินไป ก็ไม่เกิดประโยชน์เพื่อให้ได้ระยะ ลูกกอล์ฟก็จะลอยสูงเกินไป และตกหยุด ก็จำเป็นจะต้องลดอัตราสปินลง(Reduce Spin) เพื่อให้ได้มุมเหินที่เหมาะสม (Optimum Launch Angle) ซึ่งในทางตรงกันข้ามนักอล์ฟที่มีความเร็วหัวไม้ที่ต่ำ/ช้า ก็ต้องสร้างอัตราสปิน (Create Spin) ให้มากขึ้น เพื่อลูกกอล์ฟยกตัวให้สูงได้มุมที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ระยะที่มากขึ้น (ไม่ใช่ต้องการให้บอลลอยต่ำ โดยใช้องศาหน้าไม้ที่ต่ำ แต่มีความเร็วหัวไม้น้อย/ต่ำ มีสปินน้อย ก็ไม่เกิดระยะที่มากขึ้นเช่นเดียวกัน)

ระดับมุมเหิน (Trajectory) ที่ดีที่สุดคือ มุม B

การที่จะไดร์ฟให้ได้ระยะนั้นต้องมีปัจจัยสำคัญ คือ ให้มุมเหินสูง (High Launch Angle) และ สปินต่ำ (Low Spin) แต่นักกอล์ฟทั่วไปคิดว่า ควรมีมุมเหินต่ำ (Low Launch Angle) มีองศาหน้าไม้ต่ำ และ มีสปินต่ำ (Low Spin) เพื่อต้องการให้ลูกตกและวิ่งต่อ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก



มุมปะทะที่เกิดสปินมาก
การสร้างให้บอลมีมุมที่สูง หรือต่ำนั้น สิ่งที่ควรพิจารณา คือ มุมองศาหน้าไม้ (Loft Angle) / มุมปะทะหน้าไม้ (Angle of Attack) เพราะฉนั้นควรเช็ควงสวิงของท่านนั้นเป็นแบบไหน เพื่อวิเคราะห์ให้ได้องศาหน้าไม้ และความอ่อน/แข็งของก้านไม้กอล์ฟที่เหมาะกับท่านที่สุด จากที่ได้พบเห็นทั่วไปนักกอล์ฟที่ใช้องศาหน้าไม้ต่ำ (8.5-9.5) ก็ยังมีมุมเหินที่สูง / ตกหยุดก็พบเห็นได้ ก็อาจเป็นเพราะมีมุมปะทะที่กดลง (Descending) หรือมีก้านอ่อน หรือเบากว่าความเร็วหัวไม้ที่ทำได้ ควรเลือกองศาหน้าไม้ให้สูงขึ้น / ก้านแข็ง หรือ หนักขึ้น / ปรับตำแหน่งการจรดแอสเดรส หรือความสูงของที (Tee Height)

นอกจากนั้นจุดดีดก้าน (Shaft Bend Profile) และน้ำหนักก้านไม้กอล์ฟ (Shaft Weight) ก็มีส่วนสำคัญ และเกี่ยวข้องกับองศาหน้าไม้ และมุมปะทะหน้าไม้ด้วยเช่นเดียวกัน ที่จะทำให้เกิดมุมเหินที่ดีที่สุด (Optimum Launch Angle) เพื่อให้ได้ระยะอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่ควรจะได้และต้องการที่สุด ของนักกอล์ฟในแต่ละคนที่แตกต่างกัน เช่นก้านที่มีจุดดีดต่ำ (Low Bend Profile) และก้านน้ำหนักเบา/อ่อน ทำให้เกิดมุมเหิน และสปินสูง และในทางตรงข้ามก้านที่มีจุดดีดสูง (High Bend Profile) และน้ำหนักมาก/แข็ง ก็จะได้มุมเหิน และสปินที่ต่ำ

เพราะฉนั้นนักกอล์ฟที่ต้องการ หรือกำลังมองหาว่าไม้กอล์ฟแบบไหน ที่ตอบโจทย์ที่ท่านต้องการได้ จึงความนำไม้กอล์ฟ และวงสวิงของท่านมาตรวจสอบกับ Professional Club Maker ที่สามารถอธิบาย และจัดไม้กอล์ฟที่เติมประสิทธิภาพให้ท่านได้มากที่สุด เพราะไม้กอล์ฟที่เป็น Standard Spec จากบนชั้นวางขายไม้กอล์ฟคงตอบสนองกับวงสวิงที่มีความแตกต่างได้กับนักกอล์ฟในทุกๆคนครับ

4 กรกฎาคม 2556

เลือกเปลี่ยนก้านไม้กอล์ฟทั้งที ควรมองหา และพิจารณาอะไรบ้าง

ก้านไม้กอล์ฟในตลาดมีมากมาย อันที่เหมาะ/ดีล่ะ??
ในปัจจุบันการโมดิฟายไม้กอล์ฟ หรือการทำฟิตติ้งไม้กอล์ฟ (Club Fitting) ที่นักกอล์ฟทั่วไปนิยมกันมากที่สุด ก็เห็นมีเพียงนำไม้กอล์ฟไปเปลี่ยนก้านใหม่เท่านั้น และ เมื่อนักกอล์ฟส่วนใหญ่เดินเข้าไปในร้านขายก้านฯ จะถามหายี่ห้อก้านฯก่อนปัจจัยอื่นๆ ซึ่งพบได้น้อยมาก ที่จะถามหา น้ำหนักก้าน / จุดดีดก้าน (Bend Profile) / การประกอบไม้กอล์ฟ (Club Fitting) ฯลฯ ที่เหมาะสมกับตนเอง และที่ตนเองต้องการ โดยเฉพาะก้านฯที่มีการโฆษณาติดหู ติดตาตามสื่อต่างๆ เพราะคิดว่าถ้าเปลี่ยนมาแล้ว อาจตีไม่ได้ ก็จะสามารถนำไปขายต่อได้นั่นเอง ก็คิดอย่างนี้สิครับ ส่วนใหญ่เปลี่ยนไปแล้วถึงไม่ตรงวัตถุประสงค์ เลยทำให้ตลาดก้านไม้กอล์ฟเป็นที่นิยม และบริษัทฯผลิตก้านก็ต้องยอมจ่าย Sponsor ให้กับนักกอล์ฟมือดี และลงโฆษณาให้คุ้นหู คุ้นตากันมากที่สุด จริงๆแล้วโครงสร้างก้านไม้กอล์ฟไม่ได้มีกลไกอะไรซับซ้อนเลย แต่ราคาก้านฯแตะหลักหมื่นบาทได้ยังไงก็ไม่ทราบนะครับ

ก็เป็นที่น่าเสียดายที่นักกอล์ฟลืม หรือไม่ตั้งใจ หรือไม่รู้ ว่าการเปลี่ยนก้านฯนั้นมันให้ผลงานกับเกมส์กอล์ฟที่ท่านต้องการได้หรือไม่อย่างไร ต้องถามท่านว่าท่านต้องการอะไรในการโมดิฟายไม้กอล์ฟในครั้งนี้ ซึ่งตามหลักวิชาการในการทำคลับฟิตติ้งไม้กอล์ฟ (Custom Club Fitting) มีอยู่ 5 ประการเท่านััน  คือ ระยะ (Distance) / ความแม่นยำ (Accuracy) / ความสม่ำเสมอ (Consistency) / มุมวิถีเหิน (Trajectory) หรือ ความรู้สึก (Feel) ลองเลือกดูว่าท่านต้องการไม้กอล์ฟของท่านให้ได้สเปคอย่างไหนบ้างล่ะ หากอยากได้ทั้ง 5 อย่างพร้อมกันนั้น คงเป็นไปได้น้อยที่จะได้แบบเต็มๆพร้อมกัน เพราะได้อย่างหนึ่ง อาจจะต้องยอมเสียอีกอย่างบ้างนะครับ เช่นอยากได้ระยะ แต่ต้องยอมเสียความแม่นยำไปบ้าง

การเปลี่ยนก้านฯมาหนึ่งก้าน (หัวไม้) หรือหนึ่งชุด (ชุดเหล็ก) เมื่อเสียเงินทั้งที่ ก็ควรจะได้การทำฟิตติ้งไม้กอล์ฟไปด้วยจะดีกว่าไหมครับ ไม่ใช่เพียงแค่ให้รู้ว่าได้เปลี่ยนก้านใหม่แล้วเท่านั้น สมควรจะได้สิ่งที่เหมาะกับตนเองด้วย ไม่ใช่เปลี่ยนแล้ว ก็ได้สเปคที่เป็น Standard มาใช้อีก (หรือที่เค้าทำกันมันก็แบบนี้) เช่น ความยาวก้าน (Club Length) ขนาดกริ๊ป (Grip Size) แนวดีดก้านที่ดีที่สุด (Neutral Bending Position หรืออาจเรียก Spine Alignment) และ จุดดีด (Bending Profile, Low/Mid/High) หรือเทียบค่า CPM บนก้านในแต่ละส่วน และค่าความอ่อน-แข็ง (Shaft Flex) เพราะค่า Flex ในแต่ละแบนด์ไม่มีค่ามาตรฐานที่สามารถนำมาเทียบวัดได้เลย นอกจากค่า CPM เท่านั้นบอกเป็นตัวเลข นอกจากนั้นการประกอบก้านไม้กอล์ฟก็มีส่วนสำคัญ และสำคัญที่สุด ว่าให้ก้านฯนั้นทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพของมัน และเป็นสเปคที่เหมาะ หรือใกล้เคียงกับนักกอล์ฟคนนั้นจริงๆ

เข้าร้านเปลี่ยนก้านไม้กอล์ฟคราวหน้า ควรได้ความรู้ว่าบ้างนะครับว่าทำไมต้องเปลี่ยนก้านแบบนี้ ไม่ใช่เพราะว่าเป็นแบนด์ดัง หรือ เห็นเขาเล่า/บอกว่าตีไกล ท่านเสียเงินแล้วไม่ใช่แค่ได้ก้านที่ช่างทำไม้ฯนำก้านฯมาแค่เพียงเสียบประกอบเท่านั้น โดยไม่ได้มีการวิเคราะห์ และทดสอบวงสวิง หรือจังหวะสวิงเลย แล้วสามารถจัดก้านฯให้ท่านได้ถูกต้อง ซึ่งควรมีข้อสรุปเป็นหลักการให้คุ้มค่า คุ้มราคาบ้างนะครับ

19 มิถุนายน 2556

ให้ความสำคัญกับ ขนาดกริ๊ป (Final Grip Size) มากพอๆกับการจับกริ๊ปก่อนการสวิงในแต่ละครั้ง

ขนาดมือที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน
ให้ขนาดกริ๊ป (Grip Size) มีความสำคัญไม่แพ้ การจับกริ๊ปก่อนการสวิงในแต่ละครั้ง เมื่อท่านมีโอกาสเปลี่ยนกริ๊ปใหม่ในแต่ละครั้งควรทำขนาดกริ๊ป (Grip Size) ให้พอดีกับขนาดมือของท่านเอง เพราะทำให้การ Impact ที่ดีและหนักแน่นมีผลต่อระยะ / วิถีบอล และทิศทางลูกกอล์ฟที่ออกจากหน้าไม้ไป

ไม้กอล์ฟที่ท่านซื้อสเปคเดิมๆมาจากชั้นบนห้าง/ร้านที่วางขายไม้กอล์ฟ เสมือนกับว่าโดนบังคับ หรือเสี่ยงดวงให้ใช้ขนาดกริ๊ปที่ทำมาจากโรงงานนั่นเอง และท่านจะมั่นใจได้ไหมว่าขนาดกริ๊ปนั้นพอดีกับขนาดมือของท่าน ซึ่งท่านไม่ควรวัดจากความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ควรมีมาตรฐานการวัดบอกเป็นตัวเลขออกมาเลยว่า ฝ่ามือท่านมีขนาดเท่าไร มิฉนั้นแล้ว ท่านต้องทนใช้กริ๊ปที่มีขนาดไม่พอดีกับขนาดมือ และไม่ทราบว่าผลงานของเกมส์กอล์ฟท่านไม่ดีเพราะอะไร ส่วนใหญ่จะโทษไม้ฯ หรือก้าน หรือวงสวิงกัน ลืมมองเรื่องขนาดกริ๊ปไป

ผลงานของขนาดกริ๊ปที่ไม่ทำฟิตติ้งที่ต่างกัน

เมื่อต้องการเปลี่ยนกริ๊ปใหม่ทุกครั้งควรมองหาร้าน Professional Club Fitting เท่านั้นที่สามารถทำ/วัดและบอกขนาดฝ่ามือของท่านเป็นตัวเลขได้ (อย่าใช้ความรู้สึกวัดอย่างเดียว) และสามารถทำขนากริ๊ป (Grip Size Fitting) ออกมาได้ถูกต้องกับความรู้สึกจริงๆ เสียเงินเปลี่ยนกริ๊ปใหม่ทั้งที ให้ได้ประโยชน์ครบถ้วนดีกว่าไหมครับ

18 มีนาคม 2556

การเลือกก้าน Driver ที่มีความอ่อน/แข็ง (Flex) เหมาะสมกับนักกอล์ฟ

🔻มีนักกอล์ฟหลายท่าน อาจจะมากกว่า 70-80% ที่ยังไม่เข้าใจเรื่องความอ่อน / แข็งของก้านไม้กอล์ฟ (Shaft Flex) และเข้าใจกันว่า ก้านไม้กอล์ฟจำแนกความอ่อนแข็งออกเป็นเพียงตัวอักษรบอกไว้บนก้านฯเท่านั้น ตัวอย่างเช่น Flex R (Regular) / S (Stiff) / X (Extra Stiff) นอกจากนี้ ก้านฯบางยี่ห้อยังจำแนกเป็น R1 / R2 / SR / L (Lady) หรือ Firm ซึ่งนักกอล์ฟก็จะจดจำว่าตัวเองเคยใช้ก้าน R  แล้วตีได้ดี ได้ความรู้สึกอ่อน/แข็งระดับหนึ่ง และชอบ เมื่อไรต้องการเปลี่ยนไม้กอล์ฟ หรือก้านไม้กอล์ฟ ก็จะเลือกก้านที่บอกตัวอักษรแค่เป็น  R (Regular) เท่านั้น ก็น่าจะเพียงพอแล้วกับความต้องการแล้วใช่ไหม??

ก้านไม้กอล์ฟไม่มี Flex ที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน
🔻คราวนี้ท่านนักกอล์ฟควรจะเลือกความอ่อน/แข็ง (Flex) ของก้านไม้กอล์ฟที่มีความอ่อน/แข็งตามที่เคยคิดไว้อย่างนั้นหรือเปล่า ที่ท่านจะได้ก้านที่เหมาะสม และชอบเหมือนอย่างเคยกับท่านจริงๆ ในเมื่อก้านไม้กอล์ฟในท้องตลาดก็มีเป็นหลายสิบยี่ห้อ / หลายรุ่น และ รุ่นละหลาย Spec อีกอ่ะครับ แล้วก้าน Flex R (Regular) จะมีความอ่อนกว่าก้านไม้กอล์ฟที่มี Flex S (Stiff) และก้านฯ X (Extra Stiff) ก็จะแข็งกว่าก้านฯที่ มี Flex S  เป็นอย่างนั้นในทุกๆก้านไม้กอล์ฟ ของทุกๆยี่ห้อหรือเปล่าล่ะ เช่น ก้าน R ของรุ่นหนึ่ง จะอ่อน/แข็ง เท่ากันกับอีกรุ่นหนึ่งไหม?????

🔻ก้านไม้กอล์ฟที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น Flex จะไม่มีความเป็นมาตรฐานในการจำแนกเรื่องของความอ่อน/แข็ง (Flex) ที่บอกเอาไว้บนตัวอักษรไว้บนก้านฯเลย (R/S/SR/X...) ถึงแม้ว่าก้านฯนั้นจะผลิตมาจากบริษัทเดียวกันก็ตาม แต่ผลิตมาคนละรุ่น / เวลา และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับก้านฯ กับต่างบริษัท ที่มี Flex เดียวกัน ยิ่งมีความอ่อน/แข็งที่ไม่เหมือนกันเลย เพราะแต่ละบริษัทที่ผลิตก้านก็มีเทคนิค และจุดเด่นในการผลิตที่แตกต่างกัน รวมถึงแผนการตลาดที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย
Frequency Analyzer

การวัดความอ่อน/แข็งของก้านไม้กอล์ฟนั้น ที่ถือได้ว่าเป็นมาตรฐานในวงการ Professional Club Fitting จะมีเครื่องวัดที่เรียกันว่า "Frequency Analyzer Machine" หรือเครื่องวัดความถี่ หรือวัดการดีดของก้านฯ ว่ามีจำนวนการดีดขึ้น-ลง ต่อ นาที ว่ามีจำนวนเท่าไร มีการเรียกเป็นหน่วยว่า CPM (Circle Per Minute) ค่านี้จะผันแปรตามความยาวก้าน (Shaft Length)  เช่นก้านที่สั้นลงจะมีความถี่ หรือการดีด ต่อรอบนาทีที่มากขึ้น หากเปรียบเทียบก้านฯ 2 ก้านว่ามี Flex ที่เหมือน หรือต่างกันอย่างไร ควรจะต้องมีความยาวที่เหมือนกัน และมีน้ำหนักถ่วงปลายก้านฯ หรือน้ำหนักหัวไม้ (Club  Head Weight) เหมือนกัน ท่านก็จะทราบว่าก้านฯนั้นจะมีความอ่อน/แข็ง (Flex) ที่เหมือน หรือต่างกันอย่างไร

🔻คราวนี้สมมุติว่าท่านชอบก้านฯ โมดิฟายยี่ห้อดังสักตัวหนึ่ง ซึ่งเพื่อนของท่านใช้แล้วว่าดี และท่านก็พอใจกับก้านฯนั้นเมื่อได้ลองตี (สมมติว่าเป็น Flex R) และท่านก็อยากจะได้ก้านฯแบบนั้นบ้าง เพื่อที่จะให้ได้ความรู้สึก / การทำงานของก้านฯ แบบที่เคยลองมา แต่พบว่า เมื่อได้เปลี่ยนก้านฯนั้นมาแล้วกลับไม่เป็นอย่างที่คิดไว้เลย มันเป็นเพราะอะไร ในเมื่อเป็นก้านฯแบบเดียวกัน และก็ Flex เดียวกัน (ที่บอกบนก้าน) พอสรุปที่ไม่เหมือนกัน และควรพิจารณาสิ่งเหล่านี้ประกอบดังนี้

  1. น้ำหนักหัวไม้ (Club Head Weight) : น้ำหนักหัวไม้ที่ หนัก / เบา ไม่เหมือนกัน
  2. ขนาดของหัวไม้ หรือ การออกแบบจุดศูนย์ถ่วง (Club Head Volume or Center Of Gravity) : ขนาดปริมาตร / CC ไม่เหมือนกัน, การกระจาย Deeper COG, ใกล้/ไกล หน้าไม้ หรือ ความสูง/ต่ำหน้าไม้ (Vertical COG) หรือ Deep / Shallow Face
  3. ความยาวก้าน (Shaft Length) : ความยาวกำหนดความแม่นยำ และ สวิงเวทที่ต่างกัน
  4. น้ำหนักรวมไม้กอล์ฟ (Total Weight) : เป็นผลมาจาก น้ำหนักหัวไม้ และน้ำกริ๊ป รวมกับน้ำหนักก้านฯ และจุดดีดก้าน (Kick Point) ที่ต่างไป
  5. การประกอบไม้ (Club Assembly) เช่น ตัดทำความยาวก้าน / Swing weight / Tip Trimming / ขนาดกริ๊ป / Spine Alignment 
🔻เพราะฉนั้นสรุปได้ว่าก้านฯที่มี Flex ที่บอกบนก้านไม้กอล์ฟนั้น อาจเชื่อถือไม่ได้เลย เมื่อนำก้านนั้นมาประกอบเป็นไม้กอล์ฟแล้ว (Completed Club) ความอ่อนแข็งของก้านก็จะเปลี่ยนไป (ยังไม่รวมเรื่อง Spec การผลิตของแต่ละบริษัทที่แตกต่างกัน) ควรนำมาวัดหาค่า CPM จะแน่นอนกว่าครับ ท่านจะได้ก้านไม้กอล์ฟที่เป็นส่วนสำคัญ และเป็นตัวแปรหลักที่เหมาะกับท่านจริงๆ จะดีกว่าทดลองหาไม้กอล์ฟที่มีก้านทีเป็น Standard Spec ลองไปเรื่อยๆ กว่าจะลงตัวคงเสียเวลา และอาจเสียเงินเปล่าด้วยครับ

🔻หากท่านต้องการทราบว่าท่านควรมีก้านไม้กอล์ฟที่มีความอ่อน/แข็ง (Flex) หรือมีค่า CPM เท่าไรที่จะเหมาะสมกับ จังหวะ และวงสวิงของท่าน ควรปรึกษาร้าน Professional Club Fitting จะมีคำตอบที่ดีที่สุด

(ก้านฯกราไฟท์ที่ใช้มาระยะเวลาหนึ่งอาจเปลี่ยนความอ่อน/แข็ง (Flex) ได้ ขึ้นอยู่่กับความถี่/บ่อยในการใช้งาน)

✅ติดตามเรื่องฟิตติ้งไม้กอล์ฟน่ารู้✅

https://youtube.com/c/TOMTOMIYACLUBFITTING

7 กุมภาพันธ์ 2556

การจัดก้านดีดใหม่ หรือจัดกระดูกก้าน หรือ จัด Spine ก้านไม้กอล์ฟ

มีการเรียกขานในการปรับแต่งไม้กอล์ฟใหม่ หรือเมื่อไรที่มีการเปลี่ยนก้านฯใหม่ ว่าให้จัด Spine ก้าน หรือ จัดกระดูกก้านใหม่ทุกครั้ง ซึ่งมีนักกอล์ฟ หรือ ช่างประกอบไม้กอล์ฟส่วนใหญ่ คิดว่าต้องหากระดูกก้าน หรือ Spine ซึ่งเป็นจุดแข็งที่สุดบนก้าน เพราะตามที่ทราบกันมา ว่าก้านไม้กอล์ฟนั้นจะต้องมีจุดที่เป็นกระดูกก้าน และนำจุด หรือตำแหน่งนั้นมาอยู่ตำแหน่งที่ 12  หรือ 6 นาฬิกา หรืออยู่ตรงกับตำแหน่งบนของก้านเมื่อยืนจรด Address เพราะจะได้ไม่ไปอยู่ด้านเดียวกับหน้าไม้กอล์ฟ หรือขวางแนวสวิง ซึ่งจะทำให้ก้านไม้กอล์ฟนั้นมีประสิทธิภาพในการดีดมากที่สุด

ชั้นแต่ละชั้นของก้านที่ไม่เสมอกัน
ใน Professional Club Maker จะไม่ค่อยพูด หรือเรียก การจัด Spine หรือการจัดกระดูกก้านกันเท่าไร เพราะมีการถกเถียงพูดคุย เรื่องการจัดจ้าว Spine นี้มานานแล้ว และเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าการผลิตก้านไม้กอล์ฟ ไม่ว่าจะเป็นก้านที่ราคาแพงขนาดไหน ก็ไม่สามารถผลิตก้านไม้กอล์ฟให้เรียบกลมได้ 360 องศา อย่างแน่นอน แต่จุดที่แข็ง หรือ กระดูกก้าน (Spine) นั้นในแต่ละก้านที่ผลิตออกมาจำหน่ายนั้น จะมีไม่เหมือนกัน (แม้ยี่ห้อ/รุ่นเดียวกัน) และไม่ใช่จะมี 2 จุดที่แข็งบนก้านที่อยู่ตรงกันข้ามกัน (เช่น 6  และ 12 นาฬิกา เมื่อยืนจรดไม้ฯ) ซึ่งบางก้านฯ ก็อาจมีอยู่ด้านเดียว หรือมี 2 ด้านก็ได้ แต่ไม่ได้อยู่ตรงกันข้ามกัน เช่น 12 และ 8 นาฬิกา ก็สามารถพบเจอกันได้บ่อยๆ แต่จุดไหน หรือด้านไหนล่ะที่ดีที่สุด

ดังนั้น Professional Club Maker สำนักต่างๆในสหรัฐอเมริกา จะเรียกจ้าวตัวนี้กันว่า จุดดีดที่เป็นธรรมชาติของก้านที่ดีที่สุด (Neutral Bending Position, NBP) หรือ PPOP (Principle Planer Oscillation Plane) หรือ FLO (Flat Line Oscillation)  หรือ PUREing ไม่ว่าจะเรียกอย่างไรก็ตามก็คือ หาจุดดีดด้านที่คงที่ที่สุดในขณะที่การทำการงอตัวดีดของก้านๆหนึ่ง (ไม่จำเป็นว่า Logo จะต้องอยู่แนวเดียวกันตลอดทุกก้านที่เป็นก้านแบบเดียวกัน) ซึ่งไม่ใช่การหากระดูกก้าน หรือ หา Spine ก้านอย่างที่พวกท่านนักกอล์ฟหรือ ช่างประกอบไม้กอล์ฟเข้าใจกัน ก็แค่เพียงหาจ้าว Spine นี้และทำเครื่องหมายก่อนเสียบก้านเท่านั้น ก็ถือว่าได้จัด Spine ให้กับไม้กอล์ฟนั้นแล้ว (ทำอย่างนั้นไม่ work แล้ว)

PURE ก้านที่ได้รับรองว่าดีที่สุด
เพราะฉนั้นก้านหนึ่งก้าน ที่ย้อห้อ หรือ แบนด์เดียวกัน / รุ่นเดียวกัน อาจมีจุดดีดที่ดีที่สุดไม่เหมือนกันได้ อันนี้เป็นเพราะพื้นฐานการผลิตจากโรงงาน แต่ตามที่ได้พบเห็นก้านที่ติดมาจากโรงงานจะมี LOGO อยู่ด้านล่างเหมือนกันหมด  (ที่ 6 นาฬิกาตำแหน่งที่ยืนจรด Address) หรือ Logo Down เรียงเป็นแนวเดียวกัน โดยเฉพาะในชุดเหล็กจะเห็นได้ชัดที่สุด ซึ่งทำให้การดีดที่แตกต่างกันในเหล็กแต่ละเบอร์ ซึ่งเหล็กเบอร์ไหนที่มีจุดดีดที่ดีอยู่ตรงก็จะตีได้ดี และให้ความรู้สึกทีดีมีประสิทธิภาพกว่า เหล็กเบอร์อื่นๆที่จุดดีดที่ดีที่สุดไม่ได้อยู่แนวเดียวกับหน้าไม้ หากได้นำเหล็กชุดเดิมมารื้อ และจัดจุดดีดใหม่แล้วจะทำให้เหล็กในทุกๆเบอร์มีความอ่อนก้าน (Flex) ที่เหมือนกัน และทำให้จังหวะในการสวิงที่เหมือนกันทุกในเหล็กทุกเบอร์เลยครับ

สรุปการจัดกระดูกก้าน หรือการจัด Spine ไม่ใช่การหาจุดที่แข็งที่สุดบนก้านอย่างเดียวนะครับ ต้องมั่นใจว่าจุดดีดของก้านดีที่สุดอยู่ด้านไหนต่างหาก ไม้กอล์ฟท่านจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และท่านสนุกกับอุปกรณ์ และเกมส์กอล์ฟมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ สอบถาม และเข้ารับบริการจาก Professional Club Fitting เท่านั้นท่านจะให้คำตอบได้อย่างถูกต้อง และไม่เสียเวลา คุ้มกับเงินที่เสียไปนะครับ