24 สิงหาคม 2564

ก้านไม้กอล์ฟที่ยาวขึ้นนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงหรือ ?

🔷 ไม้กอล์ฟที่มีก้านยาวขึ้นๆ ไล่ระดับกันในถุงกอล์ฟนั้น จะเป็นไม้กอล์ฟที่มีความยากขึ้นเรื่อยๆด้วยเช่นกัน ในการควบคุมการตีลูกกอล์ฟให้ได้เข้ากลางหน้าไม้ (Center Impact) ได้บ่อยครั้ง ยังยากต่อการสแควร์หน้าไม้ในขณะอิมแพค และยังยากต่อจุดเป้าหมายที่เล็งไว้ ซึ่งสรุปได้ว่าจะมีความผิดพลาดมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อความยาวก้านยาวเพิ่มขึ้น

🔶 ตัวอย่างเช่นในชุดเหล็ก ซึ่งคนเล่นกอล์ฟมาแล้วระดับหนึ่งแล้ว จะไม่ชอบ และไม่มั่นใจในการตีเหล็กที่มีความยาวเพิ่มขึ้น เช่น เหล็กยาว /เหล็ก 4,5 และก็พบได้ว่า ชุดเหล็กที่ออกวางจำหน่ายในปัจจุบันส่วนใหญ่ พยายามจะไม่ผลิตเหล็ก 4 มาเข้าในชุดเหล็กด้วย และบางยี่ห้อชุดเหล็กที่มีก้านยาวที่สุด ก็มีแค่เพียงเหล็ก 5 เท่านั้นเอง เพราะผู้ผลิตรู้ว่า จะไม่ได้รับความนิยม ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง / ราคาสูง ทำให้ยอดขายต่ำ

ก้านยาวขึ้นตีไกลขึ้นเพื่อแข่งลดสกอร์ ??


🔷 และท่านเคยสงสัยไหมครับว่า ความยาวในไม้กอล์ฟที่ยาวที่สุดในถุงกอล์ฟ คือ ไดร์ฟเวอร์ กลับผลิต และทำให้มีความยาวก้านให้ยาวขึ้นๆ ซึ่งทำให้นักกอล์ฟ และ ช่างไม้กอล์ฟส่วนใหญ่ก็พากันซีเรียส กับไอ้ความยาวก้านไดร์ฟเวอร์นี่มากๆเสียด้วย ว่าหากความยาวที่สั้นลงจะทำให้ ตีแล้วไม่ได้ระยะ และต่างพากันทำก้านไดร์ฟเวอร์ให้ออกมายาวขึ้น และยาวขึ้น ซึ่งผิดกับสเปคของชุดเหล็กที่กลับไม่ชอบไม้กอล์ฟที่มีความยาวมากขึ้นใช้

🔶 สิ่งเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งที่ทำให้นักกอล์ฟหลายๆคนสับสน และเข้าใจต่างกัน ซึ่งทำให้นักกอล์ฟที่ต้องการเล่นกอล์ฟให้ดีขึ้นจริงๆ และอยากที่พัฒนาเกมส์กอล์ฟของตัวเองสู่ระดับที่สูงขึ้น แต่กลับติดอยู่ที่อุปกรณ์ ที่ไม่ได้ช่วยส่งเสริมการเล่น หรือมีอุปกรณ์ที่ผสมสเปคไม้ฯกัน "แบบจับฉ่าย"


🔷 ก็เพราะกีฬากอล์ฟเป็นกีฬาที่มีอุปกรณ์มากถึงที่สุดก็ว่าได้ ซึ่งเรื่องสเปคของไม้กอล์ฟทุกชิ้นนั้น เช่น ไม้กอล์ฟความยาวก้าน / น้ำหนักรวมไ้ม้กอล์ฟ / สวิงเวท / ขนาดกริ๊ป / การจัดแนวดีดก้าน ฯลฯ ต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะทำให้นักกอล์ฟลดความผิดพลาดให้ได้มากที่สุด ที่จะช่วยทำให้นักกอล์ฟ ก้าวสู่ขีดสูงสุด (Peak Performance) ของความสามารถได้

7 สิงหาคม 2564

ค่าสวิงเวท (Swing Weight) กับสิ่งทีควรเป็นในไม้กอล์ฟ

เคยพูดเรื่อง สวิงเวท (Swing Weight) ในการประกอบไม้กอล์ฟไปบ้างแล้ว แต่ขอนำมาพูดซ้ำ ซึ่งค่าสวิงเวท เป็นค่าของการกระจายน้ำหนักบนไม้กอล์ฟ (Weight Distribution) ว่ามีน้ำหนักไปทางหัวไม้ บนก้านไม้ฯ หรือมาที่ด้านท้ายไม้กอล์ฟ (ด้านกริ๊ป) การกระจายน้ำหนักนี้ ควรมีสัดส่วนที่สมดุล (Balance Weight) ในแต่ละไม้กอล์ฟที่มีน้ำหนักที่ไม่เหมือนกัน และควรเหมาะสมกับนักกอล์ฟในแต่ละคนที่มีความแตกต่างกันทางสรีระร่างกาย และจังหวะการสวิง

ซึ่งพบเห็นว่านักกอล์ฟหลายท่านยังยึดติด และซีเรียส กับเจ้าสวิงเวทนี้เป็นอย่างมากๆ เช่นตัวอย่าง ที่เคยใช้ Driver ตัวหนึ่ง ซึ่งมีค่าสวิงเวทค่าหนึ่ง (D2) และรู้สึกชอบอย่างเหลือเกิน กับเจ้าสวิงเวทค่านี้ ดังนั้นเมื่อมีโอกาสในการเปลี่ยนไม้กอล์ฟใหม่ หรือเปลี่ยนก้านไม้ใหม่ ก็จะจำและให้ช่างผู้ประกอบว่า ต้องทำสวิงเวทค่านี้ให้ได้เท่านั้น เพราะตัวเองนั้นเหมาะกับสวิงเวทตัวนี้เหลือเกิน ห้ามทำเป็นค่าอื่น ซึ่งร้าน Pro Shop หรือช่างซ่อมตามร้านทั่วไป ก็ง่ายมากไม่ต้องคิดอะไรเลย ทำตามแบบเท่านั้น

เครื่องชั่งสวิงเวท (Swing Weight Scale)
เคยยกตัวอย่างไม้กอล์ฟ 2 อัน ซึ่่งอันแรกมีน้ำหนักรวมไม้กอล์ฟ (Total weight) ที 315 กรัม และอีกอันหนึ่งมีน้ำหนักรวมที่ 295 กรัม (น้ำหนักรวมแต่กัน 20 กรัม) แต่ไม้กอล์ฟทั้ง 2 อันนี้มีสวิงเวท (Swing weight) ที่เท่ากันที่ D2 ท่านลองพิจารณาว่าไม้กอล์ฟ 2 อันนี้ทำหน้าที่ในการสวิงที่เหมือนกันไหม  และจะเหมาะกับนักกอล์ฟที่ต้องการเพียงสวิงเวทที่ D2 ที่เคยใช้อยู่ไหมครับ??
(อันนี้พูดแค่ น้ำหนักรวม (Total weight) ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น ยังไม่รวมถึงจุดดีด (Bend Profile) / แบบหัวไม้ (Club Head Design) / น้ำหนักก้าน (Shaft Weight) ที่แตกต่างกันกันออกไปอีก) ยิ่งทำให้เจ้าสวิงเวทที่เหมือนกันนี้ที่ D2 ก็ดูว่าจะไม่เหมือนกันเข้าแล้วใช่ไหมครับ

Tip weight ที่ทำให้ Swing Weight เพิ่มขึ้น
การปรับ / แต่งสวิงเวทในไม้กอล์ฟ (หัวไม้+ก้าน+กริ๊ป) ที่มีน้ำหนักเบา หรือมีสวิงเวทที่เบา ช่างซ่อมไม้ฯทั่วไปก็จะเอานำ น้ำหนักถ่วงปลายก้าน (Tip Weight) เช่น ตะกั๋ว / น๊อต / ผงเหล็ก-ทังสเตน เพื่อทำน้ำหนักให้ได้สวิงเวทนั้นหนักขึ้น และมีความรู้สึกการสวิงที่หัวไม้กอล์ฟมากขึ้นตามต้องการ เพราะก้านฯ และหัวไม้ Driver ที่เบามาก (โดยเฉพาะไม้กอล์ฟ Spec ญี่ปุ่น) ซึ่งหากต้องการสวิงเวทที่เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ จะต้องเพิ่มน้ำหนัก Tip Weight เข้าไปมากเป็นพิเศษเกินความจำเป็น (กว่า 5-6 Swing weight หรืออาจมากกว่านั้น)
**(ภาพด้านซ้าย : พบน๊อตตัวยาวกว่า 3 นิ้วในปลายก้านฯที่ใส่มา เพื่อให้ได้สวิงเวทที่เพิ่มขึ้นตามต้องการ)

ซึ่งเป็นเช่นนี้แล้วจะทำให้มีน้ำหนักไปอยู่ที่คอไม้ (Hosel) มากเกินความจำเป็น และทำให้จุดศูนย์ถ่วงหัวไม้ (Center Gravity) ที่ออกแบบมา เปลี่ยนไปมาก ซึ่งจะทำให้ก้านฯไม่ทำงาน หรือไม่ดีดตามที่ควรจะเป็น

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ การเปลี่ยนกริ๊ปให้เบาลง เพื่อประโยชน์ให้มีสวิงเวทที่เพิ่มขึ้น ก็เป็นวิธียอดฮิตในการปรับแต่งไม้กอล์ฟกันอย่างมากอีกอันหนึ่งในปัจจุบัน ลองคิดพิจารณาดูนะครับ เมื่อเปลี่ยนกริ๊ปที่เบาลง น้ำหนักที่หัวไม้กอล์ฟนั้น ไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย (เป็นค่าของ Static บนเครื่องชั่งสวิงเวทเท่านั้นที่เห็นว่ามันสวิงเวทเปลี่ยนไป) แต่ท่าง Dynamic แล้วนั้นกริีปที่เบาลง ทำให้น้ำหนักรวม (Total Weight) ลดลงด้วย ซึ่งทำให้มวลลดลง เมื่อมวลลดลง ก็ทำให้พลัง (Power) ลดลงด้วย เพราะน้ำหนักกริ๊ปที่เปลี่ยนไปนั้นอยู่ในมือของท่านนักกอล์ฟ!!!!! ไม่ได้ทำปฏิสัมพันธ์กับการดีดก้านฯ ที่มีน้ำหนักเปลี่ยนไป ที่อยู่ห่างออกไปจากมือ บนก้านไม้กอล์ฟ หรือหัวไม้กอล์ฟเลย (ไม่กระทบต่อการดีดก้านฯที่เปลี่ยนไป) ***ซึ่งอาจจะเหมาะกับนักกกอล์ฟที่ต้องการลดน้ำหนักรวม เท่านั้น***

การเปลี่ยนน้ำหนักบนไม้กอล์ฟนั้นสำคัญมาก ท่านต้องการเพิ่ม หรือลดน้ำหนักบนไม้กอล์ฟเพื่อวัตถุประสงค์อะไร ควรต้องพิจารณาให้แน่ชัดในแต่ละเรื่อง เช่น ระยะ (Distance) / มุมเหิน (Trajectory) / ความแม่นยำ (Accuracy) / ความสม่ำเสมอ (Consistency) หรือเพื่อความรู้สึก (Feel)  เลือกให้เหมาะสม ถูกวัตถุประสงค์ และควรปรึกษาร้านที่เป็น Professional Club Fitting จริงๆจะได้ผลที่ใกล์เคียง และเป็นเหตุเป็นผลมากกว่า สุ่มเปลี่ยนน้ำหนักสวิงเวทตามความเชื่อ หรือการบอกต่อๆกันมา
***น้ำหนักที่เบาลง อาจไม่ใช่คำตอบของการได้ระยะ และความแม่นยำ เสมอไปนะครับ***

✅ติดตามเรื่องฟิตติ้งไม้กอล์ฟน่ารู้✅

https://youtube.com/c/TOMTOMIYACLUBFITTING