7 ตุลาคม 2557

ก้านไดร์ฟเวอร์ที่ยาวจะทำให้ตีได้ไกลขึ้นจริงๆ เป็นคำตอบสุดท้ายจริงหรือ?

ก้านยาว ตีไกล
ก้านไม้กอล์ฟโดยทั่วไปที่ผลิตออกมาขายในตลาดโลก ส่วนใหญ่จะพยายามผลิมให้หัวไม้มีน้ำหนักเบา และมีความยาวก้านที่ยาวขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะทำให้นักกอล์ฟตีแล้วให้ระยะเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ได้คำนึงถึงความสม่ำเสมอ (Consistency) ที่สามารถตีให้ได้ระยะไกลได้บ่อยครั้ง หรือมากครั้งขึ้น และยังไม่รวมถึงควรแม่นยำ หรือการควบคุมลูกกอล์ฟ (Control or Accuracy)ให้อยู่ในแฟร์ได้บ่อยครั้งเช่นกัน เช่น ใช้ไดร์ฟเวอร์ 14 หลุม (ไม่นับพาร์ 3) ทีช๊อตอยู่ได้แฟร์เวย์ และเล่นช๊อตต่อไปได้ง่ายกี่หลุม

นั่นไม่ได้หมายความว่า ผลิตไม้กอล์ฟออกมานั้นเพื่อประโยชน์ในการแข่งขันตีไกล (Longest Driver Contest) เท่านั้นหรือ ถึงผลิตความยาวก้านให้ยาวเอาไว้ก่อน เพราะการแข่งขันตีไกลให้ตีลูกที่จุดเดิม 3 ครั้ง และนับครั้งที่ไกลที่สุดถือว่า เป็นไม้กอล์ฟที่ตีไกล และสามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตจริงของการออกรอบ หรือการแข่งขันทัวร์นาเม้นต์ทั่วไป

ตีลูกฯเข้ากลางหน้าไม้ (Center Impact) ที่ต้องการ
ตามหลักการทางเทคนิค หากการตีกอล์ฟแล้วไม่โดนกลางหน้าไม้ (Center Impact) การถ่ายทอดพลังส่งต่อจากก้านไม้กอล์ฟไปยังลูกกอล์ฟ (Power Transition) ได้ไม่เต็ม 100% อย่างแน่นอน ซึ่งก้านที่ยาวอาจให้ความเร็วสปีด หรือความเร็วหัวไม้ (Club Head Speed) ที่สูงขึ้นบ้าง แต่ถ้าตีไม่ตรงกลางหน้าไม้แล้วจะทำให้ ความเร็วลูกกอล์ฟ(Ball Speed) ที่ออกจากหน้าไม้ไปมีความเร็วที่ต่ำกว่าตีตรงกลางหน้าไม้ หรือทางเทคนิคเรียกกันว่า Smash Factor (ซึ่งเคยพูดในบทความก่อนๆมาแล้ว)

นักกอล์ฟมือดีๆ หรือ นักกอล์ฟอาชีพ ซึ่งมีความสามารถในการตีลูกเข้ากลางหน้าไม้ได้บ่อยครั้งมากกว่านักกอล์ฟสมัครเล่นทั่วๆไป เขาเหล่านั้นยังไม่ต้องการมีความยาวก้านที่ยาวเกินกว่าที่พวกเขาควบคุมได้เลย (ใน PGA เฉลี่ยมีความยาวไดร์ฟเวอร์ ไม่เกิน 45 นิ้ว) เพราะต้องการการควบคุม (Control) และความแม่นยำ (Accuracy) ซึ่งต้องเล่นติดต่อกันถึง 4 วันเต็ม ทุกช๊อตที่พลาดหมายถึงการแพ้ หรือชนะได้

ความยาวก้าน (Club Length) เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักของการทำ Club Fitting ก่อนสิ่งอื่นใดให้กับนักกอล์ฟเพื่อให้นักกอล์ฟสามารถตีลูกฯให้ตรงกลางหน้าไม้ฯได้บ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งไม้กอล์ฟที่เป็นมาตรฐานการผลิตจากโรงงาน หรือช่างทำไม้กอล์ฟ หรือ Proshop ทั่วไปประกอบก้านไม้กอล์ฟต้องให้ยาวไว้ก่อน นั้นไม่ใช่คำตอบอย่างแน่นอนสำหรับนักกอล์ฟทุกคนครับ

สิ่งที่ควรพิจารณาในการเลือกก้านไม้กอล์ฟให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพมากที่สุด

การเลือกเปลี่ยนก้านไม้กอล์ฟตามมาตราฐานหลักการฟิตติ้ง หรือจะโมดิฟายไม้กอล์ฟโดยการเปลี่ยนก้าน ควรคำนึงถึงสิ่งใดเป็นสำคัญดังนี้

1. น้ำหนักก้าน (Shaft Weight) : เป็นตัวกำหนดหลักในการเลือกหาก้านที่เหมาะสม ก้านที่มีน้ำหนักก้านเบาไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการเพิ่มระยะ หรือการควบคุมทิศทางของนักกอล์ฟทุกคน ควรเลือกน้ำหนักก้านให้เหมาะสมกับความแข็งแรงร่างกาย และทักษะการสวิงที่แตกต่างกัน เพราะน้ำเบาเพิ่มความเร็วหัวไม้ แต่ไม่ได้ให้พลัง (Power Factor) ในการอิมแพค และการควบคุมทิศทาง

2. ความอ่อน/แข็งก้าน (Flexibility) : ท่านไม่สามารถเชื่อได้เลยว่า Flex R หรือ S เหมาะกับท่าน เพราะ Flex นั้นไม่มีมาตรฐานกลาง แล้วแต่ผู้ผลิตจะกำหนดขึ้นเอง ซึ่ง Flex R ของแบนด์หนึ่ง อาจจะเท่ากับ Flex S ของอีกแบนด์ก็เป็นได้ ควรรู้ค่าความอ่อน/แข็งก้าน ด้วยการวัดการดีดก้าน หรือความถึ่ก้าน (Frequency Analyzer) เพื่อหาค่า CPM (Circle Per Minute) ของก้านนั้นๆ ถึงจะรู้ได้ว่ามีความอ่อน/แข็งกว่าก้านเดิมที่ใช้อยู่ก่อนจะเปลี่ยนก้านอย่างไร
3. จุดดีดก้าน (Bend Point / Profile) : ที่หลายท่านทราบกัน คือ Low/Mid/High kick เพราะก้านที่มีน้ำหนักที่เท่ากัน อาจมีจุดดีดก้านที่ไม่เหมือนกันได้ และ Low/Mid/High Kick นั้นไม่มีความเป็นมาตรฐานที่จะให้คุณสมบัติก้านเช่นเดียวกันกับ Flex (ที่กล่าวมาแล้ว) ต้องทราบค่า CPM ของทั้งก้านไม้กอล์ฟนั้นเช่นกัน นักกอล์ฟที่ไดร์ฟบอลโด่งทั้งๆที่มีองศาหน้าไม้ต่ำนั้น เพราะปลายก้านที่อ่อนมากเกินความเร็วหัวไม้ที่ได้ หรือก้านที่มีความยาวเกินความสามารถ และสรีระที่ต่างกัน นักกอล์ฟก็จะปรับวงสวิงให้เข้ากับไม้กอล์ฟในที่สุดนั่นเอง

4. การประกอบก้าน (Club Assembly) : อันสุดท้ายนี้สำคัญ เพราะเลือกก้านตามที่ 3 ข้อที่กล่าวมาแล้ว แต่การประกอบตามสเปคให้ได้เหมาะสมกับนักกอล์ฟแต่คนนั้น ให้ก้านทำงานให้เต็มประสิทธิภาพที่สุดของมันเองนั้น ไม่ใช่เพียงแค่เสียบก้านไปที่หัวไม้ ตัดก้านตามความยาวปกติเหมือนที่เคยทำ หรือมาตราฐานของก้านรุ่นนั้น ก็เท่ากับเปล่าประโยชน์เลย ซึ่งผู้ประกอบต้องทราบ ความยาวก้าน / น้ำหนักสวิงเวท / แนวดีดก้าน หรือ Spine Alignment / ขนาดมือ เพื่อทำ ขนาดกริ๊ปให้พอดีกับนักกอล์ฟ จะได้ประโยชน์เต็มที่มากกว่าใช่ไหมครับ

5. ที่กล่าวมาแล้วนั้นไม่ได้พูดถึงเรื่องสีสรร / ลวดลาย / แบนด์ หรือตามคำโฆษณาในท้องตลาดเลย เพราะองค์ประกอบของการนำก้านฯไปใช้ให้ได้ประสิทธิภาพตามหลักการทาง Club Fitting หรือหลักทางวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น เพราะฉนั้นท่านควรเลือกหรือควรรู้ในลายละเอียดของก้าน ก่อนตัดสินใจซื้อ หรือเปลี่ยนมาใช้ อย่างรอบครอบ ไม่ใช่การเสี่ยงโชค เพื่อการขายต่อเมื่อตีไม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้